องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International - AI) กล่าวหากลุ่มตาลิบันว่า ทำการสังหารสมาชิกชนกลุ่มน้อย ฮาซารา จำนวน 30 รายเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา หรือ 2 สัปดาห์หลังกลุ่มติดอาวุธนี้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือนมา
รายงานของ AI ที่อ้างข้อมูลจากคำให้การของพยานและได้รับการเปิดออกมาในวันอังคารระบุว่า ผู้ที่เสียชีวิตไปนั้นประกอบด้วย ทหาร 11 นายของรัฐบาลอัฟกันที่ถูกยึดอำนาจไปและยอมจำนน และพลเรือนอีก 2 ราย ซึ่งมีวัยรุ่นหญิงวัย 17 ปี รวมอยู่ด้วย โดยทั้งหมดถูกวิสามัญฆาตกรรมในหมู่บ้านคาฮอร์ ในเขตคีดีร์ ของจังหวัดเดย์คุนดิ ทางตอนเหนือของประเทศ
AI ยืนยันว่า ได้ทำการตรวจสอบภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่บันทึกเหตุการณ์ในหมู่บ้านดังกล่าว หลังเกิดเหตุสังหาร และเรียกร้องให้กลุ่มตาลิบันยุติการกระทำเพื่อเป็นการแก้แค้นทั้งหลายทันที
แอกเนส คัลลามาร์ด เลขาธิการใหญ่องค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุในรายงานฉบับนี้ว่า การสังหารผู้คนอย่างเลือดเย็นที่เกิดขึ้น เป็นข้อพิสูจน์ว่า กลุ่มตาลิบันใช้อำนาจในทางที่ผิดเช่นเดียวกับที่เคยทำเมื่อครั้งที่ปกครองอัฟกานิสถานก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ วีโอเอ พยายามติดต่อกลุ่มตาลิบันเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับรายงานของ AI แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับมา
ชนกลุ่มฮาซารา ซึ่งเป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ มีสัดส่วนราว 9 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 36 ล้านคนในอัฟกานิสถาน ซึ่งทำให้ชนกลุ่มนี้กลายมาเป็นเป้าของกลุ่มมุสลิมนิกายสุหนี่ไปโดยปริยาย
เมื่อครั้งที่ทำการปกครองอัฟกานิสถานในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1996 และ 2001 กลุ่มตาลิบันถูกกล่าวหาว่า ทำการข่มเหงรังแกชนกลุ่มน้อยพื้นเมืองต่างศาสนามาโดยตลอด ทั้งยังสั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะและทำงาน และห้ามไม่ให้เด็กผู้หญิงเข้าเรียนในชั้นเรียนด้วย
แต่หลังจากทำการยึดอำนาจการปกครองสำเร็จเมื่อเกือบ 2 เดือนก่อน กลุ่มตาลิบันสัญญาต่อประชาคมโลกว่า จะเคารพสิทธิ์ของชาวอัฟกัน และประกาศอภัยโทษให้กับทุกคนที่เคยทำงานกับรัฐบาลชุดก่อนที่มีประเทศตะวันตกหนุนหลังด้วย
อย่างไรก็ตาม AI ระบุว่า ขณะที่กลุ่มตาลิบันไม่ได้พุ่งเป้าการกระทำใดๆ ไปยังผู้ที่เคยทำงานกับรัฐบาลชุดก่อน เหตุสังหาร 13 ศพที่เกิดขึ้นนั้น ถือว่าเป็นการขัดแย้งกับสิ่งที่ทางกลุ่มสัญญาไว้อยู่ดี
สถานการณ์ด้านมนุษยธรรม
ขณะเดียวกัน กองทุนเพื่อเด็กเเห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) และองค์การอนามัยโลก ออกมาแสดงความกังวลในวันอังคารเกี่ยวกับปัญหาภาวะทุพโภชนาการและการขาดความมั่นคงทางอาหารในอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะเมื่อฤดูหนาวใกล้จะมาถึง ซึ่งทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งช่วยประชาชนชาวอัฟกันให้มีน้ำดื่มสะอาดเพื่อบริโภค และสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและโภชนาการโดยด่วน
แถลงการณ์ล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า ประชาชนราว 14 ล้านในอัฟกานิสถานกำลังเผชิญภาวะขาดความมั่นคงทางอาหาร ขณะที่เด็กจำนวน 3.2 ล้านคนที่มีอายุไม่ถึง 5 ขวบเต็มมีโอกาสที่จะประสบภาวะขาดสารอาหารรุนแรงเฉียบพลันภายในสิ้นปีนี้แล้ว ซึ่งอาจทำให้เด็กไม่น้อยกว่า 1 ล้านคนเสียชีวิต หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที