เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กองทัพไต้หวันประกาศแผนการที่จะให้ทหารหญิงที่ปลดประจำการไปแล้วได้เข้าร่วมฝึกทหารกองหนุนโดยความสมัครใจ และทหารหญิง 14 คนที่มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความพร้อมรบของกองกำลังให้ดีขึ้นตัดสินใจเข้าร่วมในการฝึกทหารกองหนุนรุ่นแรก
ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันกล่าวถึงเรื่องการฝึกทหารกองหนุนสตรีว่า เธอคาดหวังว่าจะมีเจ้าหน้าที่และทหารหญิงเข้าร่วมการฝึกทหารกองหนุนมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากไต้หวันถือเป็นแนวหน้าในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยโลก ดังนั้น จึงต้องการให้โลกเห็นถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องประเทศของตนโดยไม่คำนึงถึงเรื่องเพศ
ไต้หวันมีกองกำลังทหารประจำการอยู่ราว 2.3 ล้านนายและทหารสำรองราว 1.6 ล้านนาย โดยกฎหมายบังคับให้ชายไต้หวันทุกคนต้องการเข้ารับราชการทหารและเข้าฝึกเป็นทหารกองหนุน
ทั้งนี้ อัตราการเกิดที่ลดลงในช่วงหลายปีก่อนหน้าทำให้กองทัพไต้หวันเริ่มรับสมัครทหารหญิงในปี 2006 เพื่อเข้ารับราชการทหารเต็มเวลา และปัจจุบัน มีทหารหญิงที่ปลดประจำการไปแล้ว 9,800 คน
สำหรับผู้ที่อาสาเข้าร่วมฝึกทหารกองหนุนภายใต้นโยบายใหม่นี้ สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ มาตรฐานสำคัญเพื่อที่จะเข้าร่วมฝึกในระดับการรบ
วีโอเอ ได้คุยกับ ลินน์ เย ทหารผ่านศึกจากกองทัพเรือและเป็นอดีตกัปตันเรือกวาดทุ่นระเบิดผู้รับใช้กองทัพมา 22 ปี ซึ่งยังอยู่ในช่วงตัดสินใจอยู่ว่า จะอาสาเป็นทหารกองหนุนหรือไม่
เย กล่าวว่า ทหารหญิงรุ่นแรกที่กลับไปฝึกซ้อมได้จุดประกายความสนใจของเธอในการเรียนรู้ทักษะการต่อสู้เฉพาะทาง เช่น การดับเพลิงบนเรือรบ หรือควบคุมตอร์ปิโดแบบใหม่ และให้ความเห็นว่า พลเมืองทุกคนควรได้รับการฝึกฝน ติดอาวุธ และพร้อมที่จะปกป้องเกาะซึ่งปกครองตนเองแห่งนี้ที่ซึ่งจีนมองว่าเป็นอาณาเขตของตน
เธอกล่าวอีกด้วยว่า การที่ทั้งชายและหญิงเข้ารับราชการในกองทัพนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะในยามสงคราม ทุกคนจะต้องเผชิญหน้ากับมัน ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม นอกจากนี้ ไต้หวันจะแข็งแกร่งขึ้นเป็นสองเท่า หากทุกคนมีทักษะพื้นฐานหรือความสามารถในการป้องกันตัว
พันเอกฉาง หลิงหลิง วัย 53 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เข้ากลับมาเป็นกองทหารกองหนุน หลังจากที่ปลดประจำการไปเมื่อปีที่แล้ว โดยเธอได้รับการฝึกให้ดูแลรักษาปืนและยิงปืนสั้นรุ่นเก่า และเมื่อเธอได้เรียนรู้การใช้ปืนรุ่นใหม่ ๆ เธอก็พร้อมที่จะปกป้องไต้หวัน
พันเอกฉาง กล่าวด้วยว่า “ในยามฉุกเฉิน ฉันจะสามารถยืนในแนวหน้าได้ทันที ฉันคิดว่า นั่นคือหน้าที่รับผิดชอบของฉัน”
ทั้งหมดนี้คือข้อพิสูจน์ว่า การเป็นทหารนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพศใดหรืออายุเท่าไหร่ ก็สามารถมีส่วนร่วมในการปกป้องไต้หวันได้เสมอ
- ที่มา: วีโอเอ