Your browser doesn’t support HTML5
จีนไต้หวันรวมทั้งนโยบายและท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้ของจีนปักกิ่งกับวอชิงตันเป็นประเด็นหนึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขณะนี้ และในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีหลายประเทศในโลกตะวันตกซึ่งพร้อมจะติดต่อด้านการค้าและการทูตกับไต้หวันถึงแม้อาจเสี่ยงทำให้จีนปักกิ่งไม่พอใจก็ตาม
เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่จีนปักกิ่งถือว่าไต้หวันเป็นจังหวัดหนึ่งของตนและได้ขู่จะใช้กำลังถ้าจำเป็นเพื่อนำไต้หวันกลับเข้ามาอยู่ใต้การปกครอง ขณะเดียวกันไต้หวันก็มีการปกครองและมีรัฐบาลของตนเอง มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวหน้ารวมทั้งมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับประเทศเล็กๆ 15 ประเทศทั่วโลกแต่ก็มีความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับประเทศน้อยใหญ่อีกหลายประเทศในเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาไต้หวันได้รับความสนใจจากกลุ่มประเทศตะวันตกมากขึ้น เช่น จากสหภาพยุโรปและจากสหรัฐฯ โดยนาย Freddy Lim สมาชิกสภานิติบัญญัติของไต้หวันคนหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่าเท่าที่ผ่านมาความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นแบบใต้โต๊ะแต่ตอนนี้ลักษณะของการติดต่อสัมพันธ์เป็นไปอย่างเปิดเผยมากขึ้น
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าประเทศตะวันตกกำลังพยายามส่งสัญญาณเตือนบางอย่างต่อจีน อย่างเช่นนาย Sean Su นักวิเคราะห์การเมืองอิสระในไต้หวันชี้ว่าการใช้ความพยายามร่วมกันของประเทศตะวันตกจะทำให้มีอำนาจต่อรองทางการทูตมากขึ้นและสามารถเจรจากับจีนปักกิ่งได้ดีขึ้นด้วยแทนที่จะมีความสัมพันธ์กับไต้หวันแบบโดดๆ และขณะนี้ก็มีหลายประเทศที่ร่วมมือกันเพื่อพร้อมจะตอบโต้ในกรณีที่จีนปักกิ่งใช้นโยบายอย่างแข็งกร้าวและรุนแรงเกี่ยวกับไต้หวันหรือในเรื่องฮ่องกง รวมทั้งในกรณีของชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงด้วย
เมื่อเดือนกรกฎาคม รัฐบาลของลิทัวเนียยอมให้ไต้หวันเปิดสำนักงานตัวแทนในประเทศได้ซึ่งเป็นผลให้จีนปักกิ่งเรียกทูตจีนประจำลิทัวเนียกลับประเทศพร้อมทั้งเตือนเรื่องผลร้ายที่จะเกิดขึ้นตามมา และเมื่อเดือนตุลาคมรัฐสภายุโรปก็ตัดสินใจขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทูตกับไต้หวันเช่นกัน
นาย Derek Grossman นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของ Rand Coporation ในสหรัฐฯ ชี้ว่าผู้นำกลุ่มประเทศตะวันตกรู้สึกเบื่อหน่ายเกี่ยวกับแนวโน้มเรื่องการใช้อำนาจเผด็จการของจีนและได้พยายามร่วมมือโดยมีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกันเพื่อปฏิเสธรูปแบบของการใช้อำนาจเผด็จการในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ส่วนอาจารย์ Stephen Nagy ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัย international Christian University ในกรุงโตเกียวก็บอกว่าหากประเทศตะวันตกสามารถรวมตัวกันในจำนวนที่มากพอและช่วยสนับสนุนหรือมีความสัมพันธ์กับไต้หวันแล้วเรื่องนี้ก็จะมีผลช่วยป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างจีนปักกิ่งกับจีนไต้หวันได้
แต่ขณะที่หลายประเทศเริ่มขยายความสัมพันธ์กับจีนไต้หวันและแสดงความสนับสนุนต่อไต้หวันอย่างเปิดเผยนั้น ประเทศเหล่านี้ก็ยังยืนยันว่าจะยังรักษานโยบาย ”จีนเดียว” ซึ่งหมายถึงมีการรับรองฐานะทางการทูตของจีนปักกิ่งเท่านั้น และเท่าที่ผ่านมาถึงแม้จีนปักกิ่งมักจะไม่คัดค้านความสัมพันธ์ด้านการค้าและความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการด้านกงสุลระหว่างไต้หวันกับประเทศอื่นๆ ก็ตามแต่ปักกิ่งก็มักจะตอบโต้ประเทศที่พยายามมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันด้วยการระงับการเจรจาหรือถอนความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และจีนปักกิ่งมักจะไม่พอใจหากมีการแลกเปลี่ยนทางทหารหรือทางการเมืองระหว่างไต้หวันกับประเทศต่างๆ เช่นกัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วโฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของจีนปักกิ่งกล่าวโทษไต้หวันว่าร่วมมือกับกำลังจากภายนอกและยังคงยั่วยุเรื่องความเป็นอิสระอยู่ต่อไป และชี้ว่าเรื่องดังกล่าวคือสาเหตุสำคัญของความตึงเครียดระหว่างจีนปักกิ่งกับจีนไต้หวันในปัจจุบัน
ที่มา:VOA