นักวิเคราะห์คาด ปมไต้หวันไม่น่าไปไกลในการหารือ ‘ไบเดน-สี’

  • VOA

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (ซ้าย) และประธานาธิบดี โจ ไบเดน (ขวา) จับมือกันก่อนหารือกันในวงแยก ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2022 ที่บาหลี อินโดนีเซีย (ที่มา: แฟ้มภาพ/ AP)

แม้มีการคาดการณ์ว่าการหารือของผู้นำสูงสุดของสหรัฐฯ และจีน ที่จะเกิดขึ้นในการประชุม APEC จะมีการสางปมเรื่องไต้หวัน แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่าผู้นำทั้งสองอาจไม่ได้ให้พื้นที่ในการหารือเรื่องนี้มากนัก

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีน ถูกคาดหมายว่าจะมีการพบกันระหว่างการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (APEC: Asia-Pacific Economic Cooperation) ในสัปดาห์หน้าที่นครซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ

แต่ในประเด็นเรื่องไต้หวันนั้น ด้วยจุดยืนที่แตกต่างกันมากของทั้งคู่ อาจทำให้ทั้งสองฝ่ายพยายามจำกัดเวลาการพูดคุยในเรื่องดังกล่าว

คาริส เทมเปิลแมน นักวิจัยจาก Hoover Institution ของ Stanford University กล่าวกับวีโอเอว่า “ทั้งสองฝ่ายมีเรื่องที่จะพูดเกี่ยวกับไต้หวัน แต่นี่ไม่ใช่บรรยากาศที่พวกเขาจะนั่งแล้วมีบทสนทนากันตรง ๆ เกี่ยวกับท่าทีที่แต่ละฝ่ายจะมีในเรื่องนี้”

เทมเปิลแมนกล่าวด้วยว่า “จะมีการเลือกตั้งในไต้หวันในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น ดังนั้นแต่ละฝ่ายจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะมีท่าทีหนักหน่วงหรือทำให้อีกฝ่ายหลุดออกจากแนวทางที่เป็นไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา”

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีความพยายามทั้งจากรัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลวอชิงตัน ในการรื้อฟื้นการหารือในระดับสูงและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ แต่ความตึงเครียดในประเด็นไต้หวัน ซึ่งจีนถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน ยังคงอยู่ในระดับสูง

สำนักข่าว CGTN ของจีน รายงานว่ารัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ กล่าวกับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เจค ซัลลิแวน ในการประชุมเมื่อเดือนที่แล้วว่า “เอกราชของไต้หวัน” คือ “ภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งต้องได้รับการคัดค้านและสะท้อนอย่างแน่วแน่ในนโยบายและการกระทำ”

อแมนดา เซียว นักวิเคราะห์จากอาวุโสด้านจีน จากองค์กร International Crisis Group (ICG) กล่าวกับวีโอเอว่า การสนับสนุนไต้หวันจากสหรัฐฯ ในด้านการเมืองและการทหาร สร้างความกังวลให้แก่รัฐบาลปักกิ่งมากขึ้นว่าสหรัฐฯ อาจพยายามที่จะ “แยกไต้หวันออกจากจีนอย่างถาวร”

ในขณะที่ท่าทีของรัฐบาลจีนมีลักษณะห้ามปรามและคัดค้าน แต่ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการประชุมระดับสูงของทั้งสองชาติ เป็นไปในทางที่เน้นย้ำถึงการคงสถานภาพบนช่องแคบไต้หวันไว้

ถ้อยแถลงจากทำเนียบขาว เผยแพร่คำพูดของซัลลิแวน ที่พูดคุยกับ รมต. หวัง อี้ โดยระบุว่า ซัลลิแวน “ได้หารือข้อกังวลเกี่ยวกับการกระทำที่อันตรายและไม่ชอบด้วยกฎหมายในทะเลจีนใต้” รวมทั้ง “ยกประเด็นความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน”

ท้ายสุด เทมเปิลแมนจาก Hoover Institution มองว่า “ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องคุยเรื่องไต้หวันในช่วงหนึ่งของการประชุม แต่ผมคาดว่ามันคงเป็นไปตามแบบแผน” ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้นำทั้งสองชาติด้วยเช่นกัน

  • ที่มา: VOA