Your browser doesn’t support HTML5
บริษัท Gogoro ในไต้หวัน โดดเด่นกว่าบริษัทผู้ผลิตรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเจ้าอื่นๆ เพราะร่วมมือกับรัฐบาลกลางเเละรัฐบาลท้องถิ่นในกรุงไทเปในการลงทุนตั้งสถานีเเลกเปลี่ยนแบตเตอรี่จำนวน 1,300 แห่ง ช่วยลดความกังวลของผู้ขับขี่ว่าแบตเตอรี่จะหมดขณะขับขี่ ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
บริษัท Gogoro ออกแบบรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์ให้กับยี่ห้ออื่นด้วย ซึ่งซีอีโอของบริษัทบอกว่า ช่วยแก้ไขปัญหาความขาดแคลนทางการตลาดที่เกิดขึ้นในอดีต
ฮอร์เลซ ลูค ผู้ก่อตั้งบริษัท Gogoro ที่เปิดตัวเมื่อ 8 ปีที่แล้ว บอกว่าไม่มีใครคิดมาก่อนว่ายานยนต์พลังงานไฟฟ้าจะขับสนุกและดูเท่ห์ และไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะสามารถแลกแบตเตอรี่ได้ แต่ทางบริษัทของเขาก็ทำเรื่องเหล่านี้ให้เป็นไปได้
ลูค อายุ 49 ปี เป็นชาวอเมริกันจากเมืองซีแอทเติล และเป็นอดีตนักออกแบบซอฟแวร์ที่ย้ายไปอยู่ไต้หวัน
ลูค กล่าวว่า มีการตั้งจุดรับเเลกเเบตเตอรี่ทุก 500 เมตรในเขตเมืองในไต้หวัน โดยเป็นจุดที่อยู่ข้างถนนที่มองเห็นได้ชัดเจน จุดแลกแบตเตอรี่นี้จะมีอยู่ทุกสองและห้ากิโลเมตรในไต้หวัน
รัฐบาลกลางของไต้หวันรับผิดชอบจ่ายเงินครึ่งหนึ่งของค่าก่อสร้างจุดแลกแบตเตอรี่และจัดหาที่ดิน และกองทุนพัฒนาแห่งชาติของรัฐบาลไต้หวันยังร่วมลงทุนในบริษัท Gogoro เมื่อ 5 ปีที่แล้วด้วย
สำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมไต้หวันได้ตั้งเป้าลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลงร้อยละ 10 จากระดับในปี 2549 ให้ได้ภายในอีก 6 ปีข้างหน้าและจะลดให้ได้ร้อยละ 20 ภายในอีก 11 ปี
สถานีแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ของบริษัท Gogoro ทำการแลกแบตเตอรี่วันละ 90,000 ชิ้น ข้อมูลนี้ช่วยให้บริษัท Gogoro รู้ว่าสถานีใดบ้างที่ต้องการแบตเตอรี่เพิ่ม
ในระดับทั่วโลก มีเพียงไม่กีประเทศที่รถไฟฟ้ามีส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ นอร์เวย์เป็นชาติผู้นำในเรื่องนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตามมาด้วยไอซ์แลนด์และสวีเดน
สาเหตุที่บริษัท Gogoro มียอดขายเพิ่มขึ้น ยังเนื่องมาจากการออกแบบรุ่นของรถสกู๊ตเตอร์ให้ดึงดูดใจผู้ใช้เพศชายที่ชอบมอเตอร์ไซด์ขนาดใหญ่กว่า เช่นเดียวกับการออกแบบสกู๊ตเตอร์เพื่อเอาใจผู้หญิงโดยเฉพาะ
ลูค กล่าวว่า ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อปีที่แล้ว และน่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเช่นกันในปีนี้เช่นกัน
บริษัท Gogoro วางแผนที่จะเอาชนะคู่แข่งอย่าง Yamaha กับ Aeon ด้วยการขายเครื่องยนต์ให้กับบริษัทคู่แข่งเพื่อสร้างความเป็นลูกผสมข้ามยี่ห้อ เขาบอกว่านี่เป็นการสร้างโอกาสให้บริษัทอื่นๆ สามารถพัฒนายวดยานของตนขึ้นเอง
(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)