Your browser doesn’t support HTML5
ไต้หวันจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีวันเสาร์ และผู้สมัครของพรรคฝ่ายค้าน นักเศรษฐศาสตร์หญิง Tsai Ing-wen (ไค ยิง-เหวิน) กำลังมีคะแนนนำผู้สมัครของพรรครัฐบาล
พรรคชาตินิยม (Nationalist Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของไต้หวัน เข้ามามีอำนาจปกครองประเทศเมื่อปี ค.ศ. 2008 และเริ่มการเจรจาติดต่อกับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างจริงจัง การเจรจาดังกล่าวนำไปสู่ข้อตกลง 23 ฉบับ ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายมีพื้นฐานความเข้าใจระหว่างกันว่า ปักกิ่งมีอธิปไตยเหนือไต้หวันซึ่งมีอำนาจปกครองตนเอง
ในอีกด้านหนึ่ง ชาวไต้หวันจำนวนไม่น้อย มีความเห็นว่ารัฐบาลพรรคชาตินิยมของประธานาธิบดี Ma Ying-jeou มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับคณะผู้นำจีนมากเกินไป และเร็วเกินไป โดยไม่เห็นว่ามีประโยชน์อะไรต่อประชาชนทั่วไป
Eric Huang โฆษกพรรครัฐบาลไต้หวันบอกว่า ทางพรรคยอมรับว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการกระจายประโยชน์ให้อย่างเท่าเทียมกันและอย่างทั่วหน้า
ผลการสำรวจทัศนคติแสดงให้เห็นว่า ไค ยิง-เหวิน หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน มีคะแนนนิยมนำหน้า Eric Chu ของพรรครัฐบาลอย่างน้อย 8% แต่ช่องว่างดังกล่าวกำลังลดลง เมื่อ Eric Chu เร่งรัดการรณรงค์หาเสียง หลังประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ประธานาธิบดี Ma Ying-jeou รับเลือกตั้งต่อไม่ได้ เพราะกฎหมายจำกัดสมัยเวลาที่ประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งได้
ความไม่พอใจรัฐบาลเริ่มต้นแสดงออกมาเมื่อราวๆ 2 ปีที่แล้ว เมื่อกลุ่มเยาวชนเดินขบวนประท้วงข้อตกลงกับจีน กล่าวว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับจีนเป็นการเจรจาลับ โดยไม่ปรึกษาหารือกับประชาชน และไม่มีการกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง
บางคนวิตกว่า จีนจะอาศัยข้อตกลงทางเศรษฐกิจบีบบังคับให้ไต้หวันเลิกการปกครองตนเอง ในขณะที่รัฐบาลโต้ว่า ข้อตกลงกับจีนเพิ่มการค้า การท่องเที่ยวและการจ้างงาน
เมื่อ ไค ยิง-เหวิน เริ่มการหาเสียงในเดือนเมษายนปีที่แล้ว ได้ประกาศนโยบายไว้ว่า ถ้าตนชนะการเลือกตั้ง การเจรจากับจีนจะยังมีอยู่ต่อไป แต่จะไม่มีเงื่อนไขอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่า ต่างเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเดียวกัน
ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของไต้หวันกล่าวไว้ด้วยว่า จะขอมติจากชาวไต้หวันเกี่ยวกับประเด็นที่จะหารือกับจีนด้วย
Rex How อดีตที่ปรึกษาของประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน กล่าวว่าคนรุ่นใหม่ต้องการเห็นจีนมีบทบาทเป็นเพียงผู้สนับสนุนการพัฒนาของไต้หวันเท่านั้น และว่าวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ ควรสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ชาวไต้หวันต้องการ โดยชาวไต้หวันเป็นผู้กำหนดแนวทางการพัฒนาและการดำรงชีวิตของตน ก่อนจะตัดสินใจว่าควรจะมีความสัมพันธ์อย่างไรกับจีน
ทางการจีนกล่าวไว้ว่า ไม่อยากให้ผู้นำไต้หวันคนต่อไป เปลี่ยนแปลงแนวทางการหารือติดต่อระหว่างกัน แต่มิได้กล่าวคำขู่หรือแสดงทีท่าสนับสนุนผู้สมัครคนใดในการเลือกตั้งวันเสาร์นี้