ศาลรัฐธรรมนูญของไต้หวันมีคำวินิจฉัยในวันศุกร์ ว่าโทษประหารชีวิตไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่จำกัดให้ใช้กับอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดและหลังได้รับการพิจารณาทางกฎหมายอย่างถี่ถ้วนแล้ว ตามการรายงานของรอยเตอร์
คำวินิจฉัยนี้มีขึ้นสืบเนื่องจากนักโทษประหาร 37 คนทำข้อร้องเรียนให้ศาลพิจารณา ทั้งนี้ และมีการพิจารณามาตั้งแต่เดือนเมษายน
ผู้พิพากษา ซู จง ลี่ ระบุว่า การปกป้องสิทธิในการมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่หลักการที่เป็นที่สุด (not absolute)
ผลการสำรวจความคิดเห็นยังพบว่า ชาวไต้หวันจำนวนมากยังคงเห็นด้วยกับการมีโทษประหาร และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โทษสถานนี้ถูกใช้ในไม่กี่กรณี ในขณะที่อาชญากรรมที่รุนแรงก็มีจำนวนน้อยลง
กลุ่มสิทธิมนุษยชนในไต้หวันมองว่า คำวินิจฉัยเมื่อวันศุกร์มีนัยในทางบวกอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุด ไต้หวันจำเป็นต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต
กลุ่มพันธมิตรไต้หวันเพื่อยุติโทษประหาร ระบุว่า “เมื่อไหร่ไต้หวันจะยกเลิกโทษประหาร หนทางต่อจากนี้จะยิ่งยากลำบากยิ่งขึ้น”
พรรคก๊กมินตั๋ง พรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดออกมาแสดงความเสียใจต่อคำตัดสินดังกล่าว โดยมองว่า คำวินิจฉัยสะท้อนความต้องการยกเลิกโทษประหาร ซึ่งขัดกับความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่บนเกาะแห่งนี้
ในปี 2020 รัฐบาลไทเปสั่งประหารชายที่มีความผิดฐานวางเพลิงฆ่าหกศพ ทำให้สหภาพยุโรป (อียู) ออกมาแสดงท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารเสีย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน อียูเพิ่งชื่นชมที่ไต้หวันบริจาคหน้ากากอนามัย 6 ล้านชุดในช่วงที่โควิด-19 ระบาด
กลุ่มสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า จีนที่อยู่ไม่ไกลกันออกไป ประหารชีวิตคนเป็นจำนวนปีละหลายพันคน แม้รัฐบาลปักกิ่งจะไม่มีการเผยแพร่สถิติก็ตาม
- ที่มา: รอยเตอร์