Your browser doesn’t support HTML5
ส่วนหนึ่งของแรงผลักดันที่ทำให้ สุนิสา ลี นักยิมนาสติกหญิงทีมชาติสหรัฐฯ เชื้อสายม้ง วัย 18 ปี สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองในฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวได้สำเร็จ คือกำลังใจและการทุ่มเทสนับสนุนจากครอบครัวรวมไปถึงชุมชนชาวม้งที่ให้ความเชื่อมั่นคอยเป็นแรงหนุนผลักดันให้เธอได้บินสูงไปคว้าความฝันได้สำเร็จ
โรงเก็บรถหลังบ้าน ในเมืองเซ็นปอลล์ รัฐมินนิโซตา หรือแม้แต่สนามหญ้าหน้าบ้าน ก็เคยเป็นหนึ่งในสถานที่ฝึกฝนยิมนาสติกมาตั้งแต่เด็ก ของสุนิสา ลี นักยิมนาสติกหญิงทีมชาติสหรัฐฯ เชื้อสายม้ง วัย 18 ปี เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว
ชอบตีลังกาไปทั่วบ้าน และ อุปกรณ์ยิมฯ ทำด้วยเอง
'จอห์น ฮัว ลี' (John Lee) พ่อเลี้ยง และ 'หยาง เธา' (Yang Thao) คุณแม่ ของสุนิสา ยังจำได้ดีถึงความคลั่งใคล้และชื่นชอบในการตีลังกา แบบยิมนาสติก ของสุนิสา มาตั้งแต่เด็ก
หยาง เธา คุณแม่ของสุนิสา บอกว่า ในช่วงแรก ๆ ที่สุนิสาเริ่มฝึกยิมนาสติก ราวอายุ 6 ขวบ เธอมักจะใช้สนามหญ้าหลังบ้าน และทุกแห่งภายในบ้านฝึกตีลังกาเป็นประจำ รวมไปถึงอุปกรณ์คานทรงตัว หรือ balance beam ทำด้วยมือที่ จอห์น ลี สามีของเธอประกอบขึ้นเอง เพื่อใช้เป็นที่ฝึกซ้อมของสุนิสา
เกิดและเติบโตจากครอบครัวผู้อพยพชาว 'ม้ง'
พ่อแม่ของสุนิสา เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวม้งที่ลี้ภัยสงครามในประเทศลาว เคยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ก่อนจะถูกส่งต่อมาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา เมื่อราว 40 ปีก่อน
สุนิสา เกิด ในรัฐมินนิโซตา ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนม้งขนาดใหญ่ในอเมริกา แต่ขณะที่สุนิสาอายุได้เพียง 2 ขวบ พ่อแท้ ๆ กับแม่ของเธอหย่าร้างกัน ก่อนที่แม่จะแต่งงานใหม่กับ จอห์น ลี ชาวอเมริกันเชื้อสายม้ง และต่อมาสุนิสาก็เปลี่ยนมาใช้นามสกุลของพ่อเลี้ยงแทน
Your browser doesn’t support HTML5
'จอห์น ลี' แรงบันดาลใจที่อยู่เคียงข้าง
แม้จะเป็นพ่อเลี้ยงแต่ จอห์น ลี ก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ และช่วยผลักดันให้สุนิสามุ่งมั่นและฝึกฝนในกีฬายิมนาสติกมาตลอด
จอห์น ลี บอกว่า หลังจากเห็นแววและความสามารถในกีฬายิมนาสติก สุนิสา ก็ได้รับเลือกให้เข้าร่วมกับทีมฝึกซ้อมกับผู้ฝึกสอนในรัฐมินนิโซตา ก่อนจะพัฒนาทักษะอย่างก้าวกระโดดจนคว้าแชมป์ในระดับรัฐและก้าวขึ้นไปแข่งขันระดับประเทศ และอยู่ในโครงการนักกีฬาที่เข้าข่ายติดทีมชาติสหรัฐฯ ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ
จอห์น ลี บอกว่า การก้าวไปแข่งขันในระดับสูง เพื่อโอกาสติดทีมชาติสหรัฐฯ ทำให้ทั้งครอบครัวต้องเสียสละ ทุ่มเทกำลังกาย เวลา และทุนทรัพย์ ทั้งการว่าจ้างโค้ช และการเดินทางไปแข่งขันทั่วสหรัฐฯ
แม้ในช่วงแรกจะไม่ยังไม่มีใครคาดว่าเธอจะได้เป็นตัวแทนทีมชาติสหรัฐฯ ไปแข่งในกีฬาโอลิมปิก แต่ทุกคนในครอบครัวต่างให้เชื่อมั่นในตัวเธอ และยืนหยัดที่จะสนับสนุนด้วยความหวังต่อไป ขณะเดียวกันก็เปิดระดมทุนในชุมชนชาวม้ง ที่รัฐมินนิโซตา เพื่อสนับสนุนให้ก้าวไปสร้างฝันให้เป็นจริง ก่อนที่เธอจะทำสำเร็จและคว้าเหรียญโอลิมปิกด้วยวัยเพียง 18 ปี
อุบัติเหตุ พ่อเป็นอัมพาต เกือบทิ้งความฝันสู่ โอลิมปิก
เส้นทางของ 'สุนิสา ลี' ในการคัดเลือกตัวแทนทีมชาติสหรัฐฯ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จอห์น ลี เล่าให้ 'วีโอเอไทย' ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ และเป็นครั้งวิกฤตที่เคยเกือบทำให้สุนิสา ต้องล้มเลิกความตั้งใจ หลังจากที่เขาประสบอุบัติเหตุจนกลายเป็นอัมพาต
จอห์น ลี เล่าว่า วันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ.2019 เขาประสบอุบัติเหตุขณะไปช่วยเพื่อนตัดกิ่งไม้ จนต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งเป็นช่วงสัปดาห์เดียวกับที่สุนิสาจะต้องไปแข่งคัดเลือกระดับประเทศของสหรัฐฯ ที่รัฐมิสซูรี แต่เมื่อเธอทราบข่าวร้ายว่าพ่อเลี้ยงของเธอที่เคยเป็นเสาหลักของครอบครัว และคอยเป็นกำลังสำคัญที่พาเธอเดินทางแข่งขันมาแล้วทั่วประเทศ เมื่อ จอห์น ต้องรับการผ่าตัด ทำให้เธอตัดสินใจว่าจะไม่เดินทางเข้าแข่งขันในครั้งนั้น
แต่เมื่อจอห์นฟื้นขึ้นมาหลังการผ่าตัด สิ่งแรกที่เขาบอกกับสุนิสาก็คือ ให้เข้าแข่งขันตามกำหนด เพราะเธอฝึกฝนอย่างหนักมาตลอด และอย่าทิ้งโอกาสสำคัญ ก่อนที่สุนิสาจะเดินทางเข้าแข่งขันและคว้าอันดับที่สอง ต่อจาก ซิโมน ไบลส์ (Simone Biles) นักยิมนาสติกชื่อดังทีมชาติสหรัฐฯ และเป็นอันดับที่ทำให้เธอติดเป็นตัวแทนทีมชาติสหรัฐฯ เข้าแข่งชิงแชมป์โลก เป็นครั้งแรกมาตั้งแต่นั้น
ข้าวเปียก ข้าวปุ้น ตำบักหุ่ง อาหารโปรดแชมป์โอลิมปิก
ความเป็นอยู่และวัฒนธรรมแบบชาวม้ง ยังคงได้รับการสืบทอดในครอบครัวตระกูลลี หยาง เธา บอกว่า แม้จะเกิดในอเมริกา แต่อาหารจานโปรดของสุนิสาและพี่น้องรวมทั้ง 5 คน ยังเป็นข้าวเปียกเส้น หรือ ก๋วยจั๊บญวน รวมไปถึงขนมจีนและส้มตำ เมนูอาหารดั้งเดิมของบรรพบุรุษ
ที่มาชื่อ 'สุนิสา' จากนางเอกละครของไทย
ส่วนที่มาของชื่อนักยิมนาสติกสาวที่อาจฟังดูคล้ายกับชื่อของคนไทย จนหลายคนเข้าใจผิดว่าเธออาจจะเป็นสาวลูกครึ่งไทยนั้น หยาง เธอ บอกว่า ชื่อ "สุนิสา" เป็นชื่อของนางเอกในละครไทยที่เธอชื่นชอบ
แม่ของ สุนิสา เล่าว่า เธอชื่นชอบละครโทรทัศน์ไทยมาก และดูอยู่เป็นประจำซึ่งในช่วงนั้นมีละครที่มีนางเอกละครชื่อ “สุนิสา” และเห็นว่าเป็นชื่อที่น่ารัก ขณะเดียวกันก็คิดว่าไม่ค่อยมีชาวม้งตั้งชื่อแบบนี้ และเธอก็อยากจะตั้งชื่อลูกที่ไม่เหมือนใคร ก็เลยตั้งชื่อลูกสาวว่า “สุนิสา”
ความภูมิใจของชุมชนม้ง
ขบวนพาเหรดต้อนรับสุนิสา ลี ของชาวเมืองเซนต์ปอลล์ และชุมชนชาวม้ง คือสิ่งยืนยันความภาคภูมิใจในความสำเร็จของลูกหลานชาวอเมริกันเชื้อสายม้งคนแรกที่คว้าเหรียญกีฬาโอลิมปิก
จอห์น ลี บอกว่า การก้าวมาถึงจุดนี้ของสุนิสานั้นเกินกว่าที่เขาใฝ่ฝันไว้มากแล้ว การมีส่วนร่วมกับกีฬาโอลิมปิกในฐานะชาวม้ง ชาวเอเชีย ในนามทีมชาติสหรัฐฯ และคว้าเหรียญทองมาได้ ถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่เธอคือตัวแทนของทุก ๆ คนที่สร้างฝันให้เป็นจริงได้ด้วยความพยายาม
ฝันใหญ่ เป็นจริงได้สำหรับทุกคน
ปัจจุบัน สุนิสา ลี ได้รับทุนการศึกษาเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยออเบิร์นในรัฐแอละบามา
ขณะเดียวกัน สุนิสายังได้รับการยกย่องจาก นิตยสารไทม์ (Time Magazine) ให้เป็นหนึ่งในร้อย ‘บุคคลทรงอิทธิพลที่สุดของโลก’ ประจำปี 2021 (The Most Influential People of 2021) ในฐานะนักกีฬาชาวม้งคนแรกในกีฬาโอลิมปิก ที่นำพาผู้คนก้าวข้ามพรมแดนของการกีฬา รวมทั้งการเป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวม้งทั่วโลก ส่งผ่านข้อความที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังจากความพยายามของเธอไปยังผู้ที่ยังขาดโอกาสทุกแห่งในโลก ว่า ‘ฝันที่ยิ่งใหญ่เป็นไปได้สำหรับทุกคน’ (Dream big because anything is possible)