ทูน่าที่ไม่ใช่ทูน่า! ‘ซับเวย์’ เจอฟ้องร้องฐานพบดีเอ็นเอหมู-ไก่-เนื้อ ในเมนูแซนด์วิชทูน่า

(File) A Subway sandwich shop logo is pictured in the Manhattan borough of New York February 14, 2014. REUTERS

Your browser doesn’t support HTML5

Business News


บริษัทแฟรนไชส์แซนวิชซับชื่อดัง ซับเวย์ (Subway) เจอคดีฟ้องร้องใหม่ ฐานหลอกลวงประชาชนเกี่ยวกับเมนูทูน่าของทางร้าน เมื่อผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์กับเมนูดังกล่าว พบว่า ไม่ได้เป็นเนื้อทูน่า 100% อย่างที่โฆษณา แต่กลับพบดีเอ็นเอเนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อวัว อยู่ในนั้นด้วย ตามรายงานของรอยเตอร์

แคเรน ดาห์โนวา และนิลิมา อามิน ยื่นฟ้องซับเวย์ต่อศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในซานฟรานซิสโก เป็นครั้งที่ 3 กรณีพบดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ปนเปื้อนอยู่ในเมนูทูน่าของซับเวย์ แต่ทางซับเวย์ ออกแถลงการณ์ตอบโต้ ระบุว่า ต้องการให้ยกฟ้องคดีที่ "ขาดการไตร่ตรองและไม่เหมาะสม" และอ้างว่าคำฟ้องนี้ไม่มีมูล โดยระบุว่าปลาทูน่าของซับเวย์มีคุณภาพสูง เป็นปลาที่จับได้จากธรรมชาติ 100% รวมทั้งได้รับการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก

ทั้งนี้ คดีทูน่าไม่ 100% นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนมกราคม ที่ผู้บริโภคกล่าวหาว่าผลิตภัณฑ์ทูน่าของซับเวย์สูญเสียความเป็นทูน่าไป และว่าเนื้อปลาทูน่าท้องแถบ (Skipjack Tuna) และปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellowfin Tuna) ของซับเวย์ไม่ได้มาจากการประมงอย่างยั่งยืน แต่ศาลได้ยกฟ้องไปถึง 2 ครั้ง โดยระบุว่าฝ่ายโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงเรื่องการสร้างความเข้าใจผิดของซับเวย์ และตั้งแต่นั้น ซับเวย์ ได้ออกโฆษณาทางโทรทัศน์และเผยแพร่เนื้อหาปกป้องเมนูทูน่าของแบรนด์ทางเว็บไซต์มาโดยตลอด

แต่ในการยื่นฟ้องครั้งที่ 3 ฝ่ายโจทก์ยื่นผลการทดสอบจากนักชีววิทยาทางทะเล ที่ตรวจสอบตัวอย่างเนื้อทูน่า 20 ตัวอย่าง ที่ซื้อมาจากร้านซับเวย์ 20 แห่งทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย และพบว่า 19 จาก 20 ตัวอย่างนี้ ไม่พบร่องรอยดีเอ็นเอปลาทูน่า แต่กลับพบดีเอ็นเอของไก่ทั้งหมด 20 ตัวอย่าง ดีเอ็นเอเนื้อหมู 11 ตัวอย่าง และดีเอ็นเอของเนื้อวัว 7 ตัวอย่างจากที่ตรวจสอบ และผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่า ซับเวย์ ระบุเมนูทูน่าของทางร้านอย่างไม่ถูกต้อง และหลอกลวงผู้บริโภคให้จ่ายเงินเพิ่มเติม

อามิน หนึ่งในผู้ยื่นฟ้องซับเวย์ ระบุว่า เธอสั่งเมนูทูน่าจากซับเวย์มากกว่า 100 ครั้ง ในช่วงปี 2013-2019 และพยายามตรวจสอบเมนูทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าเธอรับประทานเพียงแค่เนื้อทูน่าจริงๆ และอามินเป็นหนึ่งในผู้บริโภคจำนวนมากที่ไม่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์บางชนิด ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและเหตุผลด้านศาสนา ขณะที่คดีนี้เป็นคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่ระบุรายละเอียด สำหรับการฉ้อโกงและการละเมิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐแคลิฟอร์เนีย

(ที่มา: รอยเตอร์)