การศึกษาชี้ การรักษาทางผิวหนังอาจช่วยลดอาการแพ้ถั่วลิสงอย่างรุนแรง

Peanut Allergy Patch

อาการแพ้เป็นปฏิกิริยารุนแรงที่บางครั้งเป็นอันตราย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการรับประทานอาหาร สัมผัส หรือสูดดมสิ่งที่ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยต่อคนส่วนใหญ่

ในสหรัฐฯ ประชากรเด็กราว 2% คือ กลุ่มที่มีอาการแพ้ถั่วลิสง และบางคนแพ้มากจนแม้ปริมาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และขณะที่ อาการแพ้ของเด็กบางคนหายไปเองเมื่อเติบโตขึ้น หลาย ๆ คนต้องหลีกเลี่ยงถั่วลิสงไปตลอดชีวิต และต้องพกยาแก้แพ้ชนิดรุนแรงหากเผลอกินถั่วลิสงเข้าไป

แต่รายการงานศึกษาล่าสุดพบว่า การทดลองรักษาผิวหนังด้วยการใช้แผ่นแปะชนิดใหม่ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อฝึกร่างกายให้สามารถรับมือกับการแพ้อาหาร อาจเป็นสิ่งที่จะช่วยเด็กเล็กที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อถั่วลิสงได้

[FILE] Elizabeth White, 7 year-old with peanut allergies, mixes peanut powder with a fruit roll-up before taking her daily dosage.

ในปี 2020 สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุมัติการรักษาโรคภูมิแพ้ตัวแรกที่จะช่วยให้ร่างกายมีความสามารถต้านทานถั่วลิสงมากขึ้น ด้วยการใช้ยาพัลโฟร์เซีย (Palforzia) ซึ่งมีเป้าหมายเป็นเด็กอายุ 4-17 ปี โดยให้เด็กกินยานี้เป็นประจำทุกวัน

บริษัทยา Aimmune Therapeutics ในแคลิฟอร์เนียเป็นผู้ผลิตยาพัลโฟร์เซียนี้และกำลังเดินหน้าทำการทดสอบการรักษานี้ในเด็กที่อายุน้อยกว่าสี่ขวบอีกด้วย

การรักษาผ่านแผ่นแปะ

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท DBV Technologies ของฝรั่งเศสเพิ่งเปิดตัวแผ่นแปะชนิดใหม่ที่มีชื่อเรียกว่าไวอาสกิน (Viaskin) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการรักษาอาการแพ้ถั่วลิสง โดยทำงานคล้าย ๆ กับยาพัลโฟร์เซีย เพียงแต่เป็นการรักษาทางผิวหนังแทน

ทั้งนี้ แผ่นแปะไวอาสกิน คือวัสดุที่มีการเคลือบพื้นผิวด้วยโปรตีนถั่วลิสงจำนวนเล็กน้อยเพื่อให้ซึมผ่านผิวหนังเข้าไป โดยผู้ใช้งานต้องติดแผ่นแปะนี้ทุกวันตรงกลางแผ่นหลังด้านบน ซึ่งหมายความว่า เด็กเล็กจะไม่สามารถดึงออกเองได้

ในเรื่องนี้ วารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine ฉบับเดือนพฤษภาคมได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องการแพ้ถั่วลิสงในเด็กเล็กจำนวน 362 คนที่มีอายุ 1-3 ขวบ โดยเด็ก ๆ เหล่านี้ได้รับการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้และได้รับการรักษาเป็นเวลาหนึ่งปี โดยหลังจากผ่านไป 12 เดือน นักวิจัยกล่าวว่า เด็กที่รับการรักษาทางผิวหนังมีความสามารถที่จะต้านทานอาการแพ้มากขึ้น หรือมีอาการแพ้ที่รุนแรงน้อยกว่าเด็กที่รับการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือได้รับยาหลอก

นักวิจัยกล่าวด้วยว่า ราวสองในสามของเด็กที่ใช้แผ่นแปะจริงสามารถกินถั่วลิสงได้มากขึ้น โดยที่ไม่เป็นอันตรายใด ๆ

อย่างไรก็ตาม เด็กสี่คนที่ติดแผ่นแปะไวอาสกินมีอาการแพ้รุนแรงแบบเฉียบพลัน ที่เรียกว่า แอนาฟิแล็กซิส (anaphylaxis) ซึ่งพบว่า มีความเกี่ยวข้องกับแผ่นแปะ โดยเด็กสามคนได้รับการรักษาด้วยยาเอปิเนฟรีน (Epinephrine) เพื่อบรรเทาอาการแพ้ และผลที่ตามมาคือเด็กหนึ่งคนต้องออกจากการศึกษาไป

FILE - A pharmacist holds a package of EpiPens epinephrine auto-injector, a Mylan product, in Sacramento, Calif., July 8, 2016. Mylan has a generic version of its emergency allergy treatment and a new competitor has been given FDA approval.

นอกจากนี้ มีเด็กบางคนเผลอกินอาหารที่มีถั่วลิสงในระหว่างการศึกษา ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่า อาการแพ้เกิดขึ้นในหมู่ผู้ใช้ไวอาสกินนั้นต่ำกว่าในกรณีของผู้ที่ติดแผ่นแปะที่ไม่มีโปรตีนถั่วลิสง ส่วนผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการระคายเคืองผิวหนังบริเวณรอบ ๆ แผ่นแปะ

นายแพทย์อัลคิส โทเกียส (Dr. Alkis Togias) จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NIH ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษานี้กล่าวว่า ผลลัพธ์ของการศึกษานี้เรียกว่า “เป็นข่าวดีสำหรับเด็กวัยหัดเดินและครอบครัวของพวกเขา” เพราะต่อไปในอนาคต ก็จะมีการพัฒนาวิธีการรักษาอาการแพ้อาหารได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี นายแพทย์โทเกียสเตือนว่า ในเวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะเปรียบเทียบวิธีการรักษาทางผิวหนังกับการกินยา และชี้ว่า ข้อมูลต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่า วิธีการรักษาทั้งสองแบบมีผลดีและผลเสียที่แตกต่างกัน พร้อมแนะว่า การรักษาด้วยวิธีกินยาอาจได้ผลเร็วกว่า แต่ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ทางด้านบริษัท DBV Technologies ซึ่งต้องต่อสู้มาเป็นเวลาหลายปีเพื่อที่จะนำแผ่นแปะถั่วลิสงออกสู่ตลาด จนกระทั่ง เมื่อเดือนที่แล้วที่ทางบริษัทประกาศว่า สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ต้องการให้มีการวิจัยด้านความปลอดภัยเพิ่มเติมสำหรับเด็กวัยหัดเดินด้วย

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า กำลังมีการทำงานวิจัยศึกษาเกี่ยวกับการรักษาอาการแพ้อาหารแบบเดียวกันนี้อย่างน้อยสองชิ้นอยู่ โดยฉบับหนึ่งกำลังศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโปรแกรมการรักษาแบบระยะยาวที่นานกว่าที่มีอยู่ และการศึกษาอีกฉบับมีเป้าหมายการศึกษาในกลุ่มเด็กอายุสี่ถึงเจ็ดขวบ

  • ที่มา: เอพี