การศึกษาชี้ 'พายุรุนแรง' มีแนวโน้มถล่มเมืองใหญ่มากขึ้น

A US flag is tied to a fallen tree in front of a destroyed residence in the aftermath of a tornado in Mayfield, Ky.,Dec. 14, 2021.

Your browser doesn’t support HTML5

Severe Storms Likely to Hit Cities


การศึกษาครั้งใหม่ชี้ให้เห็นว่า พายุที่มีความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะเริ่มส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงเมืองต่าง ๆ เช่น นครนิวยอร์ก นครบอสตัน กรุงปักกิ่ง และกรุงโตเกียว

ทีมวิจัยระดับนานาชาติคาดการณ์ว่า พายุในชั้นบรรยากาศขนาดใหญ่ที่เรียกว่าพายุหมุนเขตร้อน อาจเคลื่อนตัวไปทางเหนือหรือทางใต้ต่อไป เนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก

องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ อธิบายถึงพายุหมุนเขตร้อนว่า เป็นระบบการจัดเรียงของเมฆและพายุฝนฟ้าคะนองที่ก่อตัวขึ้นเหนือมหาสมุทร

พายุหมุนเขตร้อนขนาดใหญ่จะถูกประกาศว่าเป็นพายุเฮอริเคนหรือไต้ฝุ่น ขึ้นอยู่กับว่าพายุเหล่านั้นเกิดขึ้นที่ใด ถ้าเกิดขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ แปซิฟิกเหนือตอนกลาง และแปซิฟิกเหนือฝั่งตะวันออก จะใช้คำว่าพายุเฮอริเคน แต่ถ้าเกิดขึ้นในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ จะเรียกว่าไต้ฝุ่น

นักวิจัยชี้ว่า พายุเฮอริเคนและไต้ฝุ่นอาจเริ่มปรากฏขึ้นทางตอนเหนือที่อยู่ห่างไกลออกไปจากครึ่งซีกโลกทางเหนือ และทางตอนใต้ที่อยู่ห่างไกลออกไปจากครึ่งซีกโลกทางใต้ ทั้งนี้ บริเวณดังกล่าวจะมีประชากรอยู่เป็นจำนวนมาก และตามปกติแล้วจะไม่เคยถูกโจมตีด้วยพายุเฮอริเคนหรือไต้ฝุ่นขนาดใหญ่

โจชัว สตัดโฮล์ม (Joshua Studholme) นักฟิสิกส์จากแผนก Department of Earth and Planetary Sciences ของมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ซึ่งเป็นหัวหน้าการเขียนงานวิจัยที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature Geoscience กล่าวในแถลงการณ์ว่า การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่สำคัญและที่คาดไม่ถึงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และว่างานวิจัยนี้คาดการณ์ว่าพายุหมุนเขตร้อนของศตวรรษที่ 21 มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในละติจูดวงกว้างกว่าที่เคยเป็นมาบนโลกในช่วง 3 ล้านปีที่ผ่านมา

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตด้วยว่า พายุหมุนเขตร้อนจะก่อตัวขึ้นใกล้ ๆ กับเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรเขตร้อนที่มีอากาศอบอุ่น และมักจะอยู่ห่างจากบริเวณที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงของกระแสลมกรดซึ่งเป็นเส้นทางกระแสลมแรงที่โคจรรอบโลก

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังชี้ด้วยว่า สภาพอากาศบนโลกที่ร้อนขึ้นจะสร้างความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างเส้นศูนย์สูตรกับขั้วโลกน้อยลง ในช่วงฤดูร้อนอาจทำให้กระแสลมกรดลดลงหรือแยกตัวออกจากกัน หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ก็อาจจะเป็นการเปิดหน้าต่างในละติจูดกลางเพื่อให้พายุหมุนเขตร้อนก่อตัวและทวีความรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ คณะนักวิจัยได้ค้นพบเรื่องดังกล่าวโดยการศึกษาแบบจำลองสภาพอากาศที่อบอุ่นจากอดีตอันไกลโพ้นของโลกในคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังใช้การสังเกตการณ์ด้วยดาวเทียม และการประเมินสภาพอากาศอีกด้วย

นักวิจัยกล่าวว่า แบบจำลองของพวกเขาคาดการณ์ได้ว่า ในช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศอบอุ่น พายุหมุนเขตร้อนจะก่อตัวและทวีความรุนแรงขึ้นที่ละติจูดที่สูงขึ้น ช่วงเวลาที่อากาศอบอุ่นเหล่านี้รวมไปถึงสมัยอีโอซีน (Eocene) หรือเมื่อ 56 ถึง 34 ล้านปีก่อนและสมัยไพลโอซีน (Pliocene) หรือเมื่อ 5.3 ถึง 2.6 ล้านปีก่อน

อเล็กซี เฟโดรอฟ (Alexey Fedorov) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์มหาสมุทรและบรรยากาศที่มหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนการศึกษานี้กล่าวในแถลงการณ์ว่า ยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างมากว่าพายุหมุนเขตร้อนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคต แต่หลักฐานหลาย ๆ อย่างก็บ่งชี้ว่า พายุหมุนเขตร้อนมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในละติจูดกลาง แม้ว่าความถี่โดยรวมของพายุหมุนเขตร้อนจะไม่เพิ่มขึ้นก็ตาม

นอกจากนี้แล้ว การศึกษาวิจัยครั้งล่าสุดอีกฉบับหนึ่งซึ่งนำโดย แคร์รี เอมมานูเอล (Kerry Emanuel) ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology – MIT) ชี้ให้เห็นว่า พายุเฮอริเคนก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือบ่อยครั้งขึ้นในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา

การศึกษาดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature Communications เมื่อเดือนที่แล้ว ได้ใช้บันทึกทางประวัติศาสตร์เพื่อสร้างแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ในการสร้างสภาพอากาศในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา

เอมมานูเอล กล่าวว่า เขาได้เพิ่มปัจจัยต่าง ๆ ของพายุเฮอริเคน เช่น สภาพที่อาจก่อให้เกิดพายุ ตลอดทั้งแบบจำลองเพื่อดูว่าจะเกิดพายุขึ้นกี่ครั้ง และผลการศึกษาวิจัยพบว่า จำนวนพายุแอตแลนติกที่มีความรุนแรงจะเกิดบ่อยครั้งขึ้น เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น

  • ที่มา: Yale University, Reuters, NOAA and Nature Geoscience