ผลการศึกษาชี้ความเครียดเรื้อรังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ส

  • Jessica Berman

depression

นักวิจัยชี้ว่าความเครียดชั่วครั้งชั่วคราวไม่มีผลเสียระยะยาว แต่หากเกิดขึ้นเป็นประจำอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ส

Your browser doesn’t support HTML5

ผลการศึกษาชี้ว่าความเครียดเรื้อรังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอัลไซม์เม่อร์ส

คนเราทุกคนต้องประสบกับความเครียดกันบ้างเป็นครั้งคราวซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา ความเครียดอาจจะเกิดจากการเสียชีวิตของคู่สมรสหรือการตกงาน แต่จิตแพทย์ริชาร์ด ลิปตั้น กล่าวว่าความเครียดยังอาจจะเกิดจากเหตุการณ์ที่เลวร้ายน้อยกว่ามาก อาทิ การถูกปรับเพราะทำผิดกฏจราจร

จิตแพทย์ลิปตั้นกล่าวว่า คนเราคิดและรู้สึกต่อเหตุการณ์เดียวกันต่างกันไป คนบางคนเกิดความเครียดอย่างหนักหลังจากถูกปรับเพราะขับรถเร็วเกินกำหนด คิดในทางร้ายว่านอกจากจะต้องจ่ายค่าปรับ 100 ดอลล่าร์สหรัฐแล้ว ค่าประกันภัยรถยนต์จะเพิ่มขึ้น ส่วนอีกคนหนึ่งที่ถูกปรับแบบเดียวกับ กลับคิดว่าตนเองไม่ควรขับรถเร็วเกินกำหนด และต่อไปตนเองจะต้องระมัดระวังมากขึ้น

ในขณะที่การสูญเสียครั้งใหญ่ๆ หลายอย่างมีผลเสียต่อสุขภาพจิตในระยะยาว แต่คนที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจมากที่สุด คือคนที่มองสถานการณ์ธรรมดาๆ ว่าเลวร้าย อย่างในกรณีคนขับรถผิดกฏจราจรคนเเรกที่จิตแพทย์ลิปตั้นยกขึ้นเป็นตัวอย่าง เพราะสร้างความเครียดให้แก่ตนเองโดยไม่จำเป็น สร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต

จิตแพทย์ลิปตั้น ผู้เชี่ยวชาญแห่งวิทยาลัยแพทย์ Albert Einstein ในนิวยอร์คอธิบายว่าความเครียดเกินพอดีต่อเรื่องเล็กๆน้อยที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน อาจส่งผลต่อความเสียหายต่อความเสื่อมด้านการรับรู้แบบอ่อนๆ ซึ่งในเวลาต่อมาจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อความบกพร่องที่รุนแรงกว่า

จิตแพทย์ลิปตั้นกล่าวว่า คนที่มีความเสื่อมด้านการรับรู้แบบอ่อนๆ จะมีโอกาสเริ่มกลายเป็นความจำเสื่อมแบบอัลไซเมอร์สในอัตรา 10-15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ดังนั้นความเสื่อมด้านการรับรู้แบบอ่อนๆ ที่พบในคนที่มีความเครียดเรื้อรังจึงเป็นอาการเบื้องต้นของโรคอัลไซเมอร์ส


ในการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Alzheimer’s Disease and Associated Disorders จิตแพทย์ลิปตั้นและทีมงานใช้บททดสอบระดับความเครียด กับอาสาสมัคร 500 กว่าคนที่อายุ 70 ปีขึ้นไป บททดสอบนี้จัดลำดับความเครียดที่อาสาสมัครเเต่ละคนได้รับในสถานการณ์เดียวกัน

ในช่วงต้นของการศึกษาที่มีชื่อว่า Einstein Aging Study อาสาสมัครทุกคนไม่มีอาการที่ส่อว่ามีความเสื่อมด้านการรับรู้แบบอ่อนๆ หรืออาการความจำเสื่อมที่มากับวัยที่สูงขึ้นที่เรียกว่าดีเมนเชีย

การวิจัยนี้ติดตามดูสุขภาพจิตใจกับความสามารถทางความคิดอ่าน รวมทั้งความจำ ภาษาและการใส่ใจของอาสาสมัครตลอดระยะเวลา 3 ปีครึ่ง

ในช่วงระหว่างการศึกษา ทีมนักวิจัยตรวจพบว่าผู้เข้าร่วมการวิจัย 71 คนมีความเสื่อมด้านการรับรู้แบบอ่อนๆ คนที่มีความเครียดในระดับที่สูงที่สุดสองเท่าตัวครึ่งจะพัฒนาอาการที่จะนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ส ส่วนใหญ่เป็นหญิงที่มีการศึกษาน้อยกว่าและมีระดับความซึมเศร้าสูงกว่า

จิตแพทย์ลิปตั้นกล่าวว่า ความเครียดเรื้อรังมีผลเสียหลายอย่างต่อร่างกาย เขากล่าวว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเครียด ร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ระดับความดันเลือดจะสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น มีการหลั่งฮอร์โมนความเครียดคอร์ติโซนออกมามากขึ้น

และในระยะยาว ความเครียดที่เรื้อรังจะสร้างความเสียหายแก่ร่างกายและสมอง จนนำไปสู่ผลกระทบทางสุขภาพระยะยาวตามมา

จิตแพทย์ลิปตั้นกล่าวปิดท้ายว่า คนเราสามารถลดระดับความเครียดที่เกิดขึ้นกับตนเองลงได้ด้วยการทำสมาธิและการฝึกโยคะ เพราะการลดความเครียดลงจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความจำเสื่อมแบบอัลไซเมอร์สได้

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน )