ฉายในโรง หรือ สตรีมมิ่งที่บ้านดีกว่า? วิเคราะห์กลยุทธ์การฉายภาพยนตร์ในยุคโควิด

Spider man: no way home

Your browser doesn’t support HTML5

Stream Or Not To Stream


ถือเป็นความสำเร็จเหนือความคาดหมายของภาพยนตร์เรื่อง Spiderman: No Way Home เพราะภาพยนตร์ฉายเดี่ยวภาค 3 เรื่องนี้ได้กวาดรายได้ทั่วโลกไปแล้วถึงกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่เริ่มเข้าฉายในโรงช่วงเดือนธันวามคมในปีที่ผ่านมา ซ้ำยังทุบสถิติเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของผู้ผลิตภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ Sony Pictures ทั้่งๆ ที่ยังไม่ได้เข้าฉายในประเทศจีนอีกด้วย

บรรณาธิการนิตยสาร Variety ในสหรัฐฯ เคลย์ตัน เดวิส บอก วีโอเอ ว่า แท้จริงแล้วมีเหตุผลสำคัญหลายข้อที่ทำให้พ่อหนุ่มแมงมุมขวัญใจหมู่บ้านในย่านควีนส์ได้รับเสียงตอบรับดีจากผู้ชม

เดวิส กล่าวว่า "ไม่มีทางที่ภาพยนตร์เรื่องไหนจะสามารถทำเงินในสัปดาห์แรกที่เปิดตัวได้ถึง 260 ล้านดอลลาร์เพียงเพราะเด็กๆ ออกมาดูเท่านั้น” และเขาคิดว่า ทุกคนออกมาดูหมด เพราะความเบื่อหน่ายที่ต้องอยู่กับบ้านต่างหาก

ทางด้าน ริชาร์ด เคร็ก อาจารย์ด้านภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน ในรัฐเวอร์จิเนีย ก็แสดงความคิดเห็นในทำนองเดียวกัน

เคร็ก เชื่อว่า หลายๆ คน ซึ่งรวมทั้งตัวเอง โตมากับภาพยนตร์เรื่อง Spider-Man และยุคนี้ คนรุ่นใหม่ๆ อย่างเช่น ลูกชายของเขา ก็กลายมาเป็นแฟน Spider-Man เช่นเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การนำเอา Spider-Man หลายยุคมาปรับและผสมให้เป็นภาพยนตร์อย่างเรื่องล่าสุดจึงสามารถดึงดูดผู้ชมหลากวัยได้เป็นอย่างดี

เว็บไซต์ Insider.com ระบุว่า ภาพยนตร์ยอดฮิตที่ติด 3 อันดับสูงสุดใน Box Office เมื่อปีที่ผ่านมาทั้งหมดล้วนเป็นของ Marvel Studios ที่เลือกฉายเฉพาะในโรงเท่านั้น โดยภาพยนตร์เหล่านี้มีเรื่อง Spider-Man: No Way Home เรื่อง Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings และ เรื่อง Venom: Let There Be Carnage

สำหรับภาพยนตร์ชื่อดังเรื่องอื่นที่เลือกฉายแบบไฮบริดซึ่งก็คือ การฉายแบบสองช่องทาง ทั้งในโรงและทั้งที่บ้านของผู้ชม หรือ สตรีมมิ่ง (streaming) อย่างเรื่อง The Matrix Resurrections และ Dune นั้น ไม่สามารถเรียกคนดูได้ดีเท่ากับแบบในโรง โดย เดอนี วีลเนิฟว์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Dune ชี้ว่า เหตุที่ภาพยนตร์ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรมาจากการตัดสินใจของ Warner Bros. ในการเลือกฉายแบบไฮบริด

ทั้งนี้ แองเจล่า วอเตอร์คัตเตอร์ จากเว็บไซต์ Wired.com ในสหรัฐฯ ชี้ว่า ไม่มีสูตรตายตัวที่ว่า การเลือกฉายแบบใดถึงจะประสบความสำเร็จมากที่สุด เพราะไม่สามารถเก็บสถิติได้ว่า ผู้คนที่ชมที่บ้านนั้น มีจำนวนคนที่รับชมจริงๆ กี่คน และมีการแบ่งปัน account ของตนเองให้เพื่อนๆ เพื่อเข้ามาดูภาพยนตร์ด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ผู้ชมบางส่วนยังเลือกที่รับชมแบบผิดกฎหมายตามเว็บไซต์ที่ไม่ได้รับลิขสิทธิ์ต่างๆ อีกด้วย

ริชาร์ด เคร็ก จากมหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน ได้กล่าวเสริมว่า ฮอลลีวู้ดควรหาวิธีใหม่ๆ เพื่อมาวัดความสำเร็จและการสร้างรายจากการสตรีมมิ่งภาพยนตร์ เพราะเขาเชื่อว่าการฉายภาพยนตร์ด้วยวิธีนี้จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากการฉายภาพยนตร์ในโรงมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด

เคร็ก ระบุว่า แม้ว่า การระบาดของโควิดจะจบลงในที่สุด คำถามที่หลายคนต้องขบคิดกันคือ เป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือไม่ที่บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์จะเฝ้าดึงผู้ชมเข้าไปในโรงและบังคับให้รับชมภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ในระยะเวลาเพียงแค่ 7 ถึง 8 สัปดาห์อย่างเดียว หรือว่า ผู้ผลิตจะสามารถสร้างรายได้ได้มากกว่าไหม ถ้าจะปล่อยให้คนดูเลือกที่จะชมภาพยนตร์ในเวลาที่สะดวก ไม่ว่าจะผ่านช่องทางการสมัครเป็นสมาชิก หรือช่องทางที่ผนวกกลยุทธ์การตลาดและโฆษณาอื่นๆ ที่อาจจะมีการคิดออกมาได้ในอนาคตแทน

และคำถามข้างต้น ถือเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูว่า คนในวงการภาพยนตร์จะครุ่นคิดหาคำตอบอย่างไร