ผู้ลี้ภัยนับพันจากเมียนมายังรอทางการไทยส่งตัวไปประเทศที่ 3

  • VOA

Displaced people from Myanmar live under a makeshift tent along the Thai side of the Moei River in Mae Sot, Thailand on Feb. 7, 2022.

ผู้อพยพลี้ภัยจากเมียนมาจำนวนหลายพันคนที่ติดค้างอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 1 ปี ยังคงรอคอยการตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่จะเปิดทางให้ตนได้เดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3 อยู่

ข้อมูลจากหน่วยงานเอ็นจีโอหลายกลุ่มระบุว่า สหรัฐฯ และหลายประเทศอนุญาตให้ชาวเมียนมานับพันซึ่งได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในประเทศไทย เดินทางไปตั้งรกรากในประเทศของตนได้แล้ว แต่ทางการไทยยังไม่อนุญาตให้คนเหล่านี้เดินทางออกจากไทยในเวลานี้

คาลายาร์ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย บอกกับ วีโอเอ ผ่านการระบบซูม (Zoom) ว่า ตน “รู้สึกเหมือนถูกจำคุกอยู่” หลังจากตัวเธอและครอบครัวเดินทางมาถึงไทย ก่อนจะถูกจัดให้ไปอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่ง ที่เรียกกันว่าเป็น เซฟเฮาส์ (safe house) ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

อดีตนักโทษการเมืองวัย 53 ปีรายนี้ ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาสั่งจำคุก 7 ปีเมื่อปี ค.ศ. 1995 และหลังได้รับการปล่อยตัว เธอเลือกที่จะทำงานเป็นผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ จนกระทั่งเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2021 และมีการปราบปรามผู้ประท้วงและหน่วยงานด้านสื่อ ที่ทำให้เธอและครอบครัวตัดสินใจหนีภัยมายังประเทศไทยในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน

คาลายาร์ ระบุว่า เธอและครอบครัวเข้ามาพักอยู่ในเซฟเฮาส์ที่แม่สอดตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2022 หลังได้รับจดหมายอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้อพยพเข้าประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยได้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปี ค.ศ. 2022

แต่แม้ทุกคนในครอบครัวของเธอจะผ่านขั้นตอนการตรวจสุขภาพและการฉีดวัคซีนตามที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดตั้งแต่สิ้นเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2022 ทุกคนไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกประเทศไทย

This photo taken on Dec. 16, 2021 by Metta Charity, shows people from Myanmar who fled a surge in violence sitting in lines as they are processed in Mae Tao Phae. in Thailand's Mae Sot district.

คาลายาร์ เปิดเผยว่า เธอได้ติดต่อไปยังองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และองค์กร Resettlement Support Center ของสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบกระบวนการเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัย แต่ทั้งสองแห่งไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อจำกัดการเดินทางที่เกิดขึ้นได้

วีโอเอ พยายามติดต่อหน่วยงานทั้งสองแห่งเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมแต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับขณะจัดทำรายงานข่าวชิ้นนี้

สำหรับสภาพความเป็นอยู่ในเซฟเฮาส์นั้น คาลายาร์ บอกกับ วีโอเอ ว่า พวกเธอ “รู้สึกเหมือนอยู่ในสวนสัตว์” โดย “IOM จัดหาอาหารให้ 3 มื้อ แต่อาหารไม่ค่อยดี และพวกเราก็ไม่มีทางเลือกอื่นใด – คือ ต้องทานไป หรือไม่ก็ไม่มีอะไรทาน พวกเราไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกสวนของโรงแรม ไม่มีรายได้ การเป็นผู้ลี้ภัย ทำให้เราไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย”

เธอบอกด้วยว่า ผู้ลี้ภัยทุกคนไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและหากออกนอกพื้นที่เซฟเฮาส์ไปหาหมอ ก็ต้องออกค่ารักษาเอง ทั้งยังเสี่ยงที่จะถูกตำรวจจับด้วย

วีโอเอ ติดต่อไปยังสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย แต่ได้รับคำแนะนำให้ติดต่อไปยังหน่วยงานดูแลผู้อพยพของสหรัฐฯ แทน ขณะที่ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตันยังไม่ได้ตอบกลับข้อสอบถามเกี่ยวกับความล่าช้าในการส่งตัวผู้ลี้ภัยจากเมียนมาไปยังสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี มอร์แกน รูสเซล-เฮเมรี จาก UNHCR ประจำประเทศไทย บอกกับ วีโอเอ ว่า รัฐบาลไทยเป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจแห่งเดียวที่จะตัดสินใจว่า ใครมีสิทธิ์เดินทางออกนอกประเทศ

ทางการไทยยังไม่ได้ติดต่อกลับมายัง วีโอเอ เกี่ยวกับคำถามเรื่องข้อจำกัดการเดินทางของผู้ลี้ภัยขณะจัดทำรายงานนี้เช่นกัน

ดันแคน แมคอาร์เธอร์ รักษาการผู้อำนวยการ Border Consortium ซึ่งเป็นกลุ่มเอ็นจีโอที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่จัดหาอาหาร เสื้อผ้า และความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้กับผู้อพยพชาวเมียนมาราว 87,000 คนที่อาศัยอยู่ตามค่ายผู้อพยพ 9 แห่งทางภาคตะวันตกของไทย ยอมรับว่า ทางกลุ่มไม่สามารถคาดเดาได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับข้อจำกัดการเดินทางของทางการไทย

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า มีผู้ลี้ภัยกว่า 95,000 คนอยู่ในประเทศไทยในเวลานี้ โดยส่วนใหญ่มาจากเมียนมา

  • ที่มา: วีโอเอ