เจ้าหน้าที่เผยในวันพฤหัสบดีว่า ไม่พบร่องรอยความเสียหายบนโบราณสถานหินชื่อดัง ‘สโตนเฮนจ์’ หลังถูกนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศพ่นสีส้มใส่เมื่อวันพุธ
นิค เมอร์รีแมน ประธานบริหารหน่วยงาน English Heritage องค์กรการกุศลที่ดูแลสถานที่ประวัติศาสตร์หลายแห่งในอังกฤษ กล่าวว่า ไม่พบความเสียหายเชิงประจักษ์บนอนุสรณ์หินอายุราว 4,500 ปี
เมอร์รีแมน กล่าวกับสื่อ BBC Radio 4 ว่า “เป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจและพวกเราเสียใจอย่างสุดซึ้ง” และระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายหนึ่งในปูชนียสถานโบราณที่เป็นรู้จักมากที่สุดในโลก
สโตนเฮนจ์เปิดให้ผู้เข้าชมเข้ามาเยี่ยมเยือนแล้ว เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวหลักพันที่จะมาในเช้าวันศุกร์ซึ่งเป็นวันครีษมายัน หมายถึงวันที่มีระยะเวลาช่วงกลางวันยาวนานที่สุดสำหรับพื้นที่ซีกโลกเหนือ
ราจัน ไนดู ชายอายุ 73 ปี และนีม ลินช์ หญิงอายุ 21 ปี ที่ก่อเหตุพ่นสี ได้รับการประกันตัวในวันพฤหัสบดี โดยเจ้าหน้าที่ได้จับกุมและตั้งข้อหาอาญาฐานทำให้โบราณสถานเสียหาย และขัดขวางการกระทำอันชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น
ทั้งสองกระทำการพ่นสีส้มใส่สโตนเฮนจ์ในวันพุธ โดยมีผู้คนที่อยู่ในจุดเกิดเหตุพยายามเข้าไปขัดขวางและยื้อแย่งสี
กลุ่ม Just Stop Oil ที่เคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านวิกฤตด้านสภาพอากาศ ออกมาประกาศแสดงความรับผิดชอบในวันพุธ และระบุว่า สีดังกล่าวทำขึ้นจากแป้งข้าวโพดซึ่งชะล้างออกได้ด้วยน้ำ
เมอร์รีแมนจาก English Heritage กล่าวว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญได้ทำความสะอาดผงสีส้มดังกล่าวแล้ว เพราะไม่แน่ใจว่าผงจะมีปฏิกิริยากับน้ำอย่างไร
สโตนเฮนจ์ถูกสร้างขึ้นบนที่ราบทางตอนใต้ของอังกฤษเมื่อราว 5,000 ปีก่อน วัตถุประสงค์ของมันยังคงเป็นปริศนาสำหรับมนุษยชาติ แม้ว่าจะมีข้อค้นพบว่าลักษณะการจัดวางของหินที่สอดคล้องกับการขึ้นของพระอาทิตย์ในวันครีษมายัน และพระอาทิตย์ตกดินในวันเหมายัน (วันที่กลางคืนยาวนานที่สุด) ก็ตาม
สโตนเฮนจ์ ได้รับการยอมรับจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลกในปี 1986
- ที่มา: เอพี