Your browser doesn’t support HTML5
ความสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการฟิสิกส์โลก กับการจากไปของสตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ นักจักรวาลวิทยา ที่ถือเป็นอัจฉริยะแห่งยุค นับตั้งแต่การจากไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
ชายผู้นี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้วงการวิทยาศาสตร์ ด้วยการพลิกเกมการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์และความเป็นไปของจักรวาล และจุดประกายความหวังของมวลมนุษยชาติ ด้วยชีวิตอันที่มีสีสันรอบด้าน ภายใต้ข้อจำกัดทางร่างกาย
ความบังเอิญอันน่าอัศจรรย์ของฮอว์คิง เริ่มต้นมาตั้งแต่กำเนิด เขาเกิดวันที่ 8 มกราคม ปี 2485 ตรงกับวันครบรอบ 300 ปี วันคล้ายวันเสียชีวิตของนักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียน กาลิเลโอ กาลิเลอี ผู้ริเริ่มการศึกษาเรื่องแรงโน้มถ่วง และวันเขาเสียชีวิต คือ 14 มีนาคมนั้น ก็ตรงกับวันเกิดของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพ ผู้เป็นไอคอนแห่งความอัจฉริยะ
ฮอว์คิง เกิดที่ออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ศึกษาต่อด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แต่นั่นไม่ได้สร้างความตื่นเต้นหรือน่าหลงไหล ได้เท่ากับคำถามง่ายๆที่ว่า “จักรวาลมาจากไหน?” และกลายเป็นคือจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของสตีเฟน ฮอว์คิง
เขาทุ่มเทให้กับการศึกษาเกี่ยวกับหลุมดำ กลศาสตร์ควอนตัม และต่อยอดแนวคิดของนักฟิสิกส์ทฤษฎีอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และเวอร์เนอร์ ไฮเซนเบิร์ก เพื่ออธิบายจุดเริ่มต้นของจักรวาล
และในปี 2517 ฮอว์คิง เขย่าวงการฟิสิกส์โลก ด้วยการนำเสนองานวิจัยว่าด้วยทฤษฎีหลุมดำ อธิบายกลไกการแผ่รังสีของหลุมดำ ที่ปัจจุบันมีชื่อว่า รังสีฮอว์คิง ผลงานของเขาได้เปลี่ยนความคิดดั้งเดิมของหลุมดำ จากผู้ทำลายกลายเป็นผู้สร้างในทันที
ในระหว่างที่เขากำลังสร้างสิ่งใหม่ในวงการฟิสิกส์อยู่นั้น เขาได้พบกับมรสุมครั้งใหญ่ในชีวิต เมื่ออายุได้ 21 ปี เขาตรวจพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS ยิ่งไปกว่านั้นแพทย์ยังวินิจฉัยว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกแค่ 2 ปีเท่านั้น
แม้จะต้องต่อสู้กับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมาทั้งชีวิต แต่สตีเฟน ฮอว์คิง ไม่เคยใช้ข้อจำกัดทางร่างกาย สร้างขีดจำกัดให้ตัวเอง ทั้งในแง่ของวิชาการ เขาเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เดินทางไปทั่วโลกเพื่อถ่ายทอดความรู้ในฐานะนักฟิสิกส์และนักจักรวาลวิทยา ในฐานะนักเขียน หนังสือ A Brief History of Time ของเขาติดอันดับหนังสือขายดียาวนานหลายร้อยสัปดาห์
เอกลักษณ์ของฮอว์คิง ชายอัจฉริยะบนรถเข็นและเสียงสังเคราะห์ ได้กลายเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรค ALS หลังจากที่เขาต้องใช้อุปกรณ์สังเคราะห์เสียงพูดเพื่อการสื่อสารด้วยกล้ามเนื้อมัดเดียวบนในหน้าและนิ้วมือที่สามารถขยับได้ หลายบริษัทด้านเทคโนโลยีแข่งกันพัฒนาอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพื่อให้ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
ที่สำคัญ ฮอว์คิง เป็นผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่มีอายุยืนยาว เพราะปกติแล้วผู้ป่วยโรค ALS จะมีอายุเฉลี่ยเพียง 3 ปีหลังจากตรวจพบอาการ แต่เขามีอายุยืนมาถึง 76 ปีหลังจากนั้น
แถมเขายังได้ใช้ชีวิตสุดเหวี่ยง ตั้งแต่ซิ่งรถเข็นไฟฟ้าไปรอบมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จนขาหัก ฉลองวันเกิดปีที่ 60 บนบอลลูนยักษ์ และฉลองวันเกิดปีที่ 65 ด้วยการสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนักบนเที่ยวบิน Zero-Gravity บนโบอิ้ง 727
ซึ่งเมื่อถูกเหตุผลถึงการทำกิจกรรมเสี่ยงตายเหล่านี้ เขาได้ตอบกลับไปว่า ความต้องการของมนุษย์ไม่ควรถูกจำกัดด้วยความบกพร่องทางร่างกาย ตราบเท่าที่เราไม่บกพร่องทางจิตวิญญาณ
ยิ่งไปกว่านั้น ฮอว์คิง เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อวงการบันเทิงโลกอย่างมาก ด้วยอารมณ์ขันที่ถือเป็นพรสวรรค์อีกด้านของฮอว์คิง
เขาปรากฏตัวในซีรีส์ การ์ตูน บทเพลง และภาพยนตร์หลายเรื่องด้วยกัน ทั้ง The Simpsons, Star Trek: The Next Generation, เพลง Keep Talking จากวง Pink Floyd และเป็นแขกรับเชิญในซีรีส์ตลกชื่อดัง The Big Bang Theory
รวมทั้งเรื่องราวของสตีเฟน ฮอว์คิง เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ The Theory of Everything ซึ่งขึ้นแท่นภาพยนตร์เข้าชิงรางวัลออสการ์ด้วย
ชีวิตที่เต็มไปด้วยสาระและสีสันของสตีเฟน ฮอว์คิง ได้จุดประกายแห่งความหวังของมวลมนุษยชาติ จากการเอาชนะข้อจำกัดของตัวเองด้วยหัวใจ และเมื่อไหร่ที่เราแหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้า ก็อาจจะขอบคุณสตีเฟน ฮอว์คิง ที่ทำให้เราได้เข้าใจถึงการก่อกำเนิดของจักรวาลอันกว้างใหญ่มากขึ้น