สงครามกาซ่าเสี่ยงขยายปม กับโจทย์ของ ‘ไบเดน’ ในศึกเลือกตั้ง ปธน.

  • VOA

ทหารอิสราเอลซ่อมแซมรถถัง บริเวณชายแดนอิสราเอล-กาซ่า ในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อ 28 ธันวาคม 2023 (ที่มา: Reuters)

การสู้รบระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ที่ขยายแนวรบและคู่ขัดแย้งมากขึ้น จนหลายฝ่ายเกรงว่าจะลุกลามไปทั่วตะวันออกกลาง กลายเป็นความเสี่ยงที่โจ ไบเดน กำลังพยายามหาทางแก้ไข ก่อนเข้าสู่ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024

หนึ่งในบทบาทของสหรัฐฯ ในสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส คือการเคลื่อนกองเรือเข้ามาในพื้นที่ เพื่อป้องปรามไม่ให้อิหร่านและคู่ขัดแย้งอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้ง แต่เมื่อเนิ่นนานไปก็มีสัญญาณว่าความขัดแย้งจะขยายวงมากขึ้น และเป็นโจทย์สะท้อนไปยังรัฐบาลไบเดนที่กำลังเตรียมตัวสู่การเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายนของปีหน้า

ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลกรุงเตหะรานประกาศว่า จะตอบโต้การโจมตีทางอากาศที่สังหารนายพลจัตวา เซเยด ราซี มูซาวี ที่ปรึกษาอาวุโสของกองกำลังปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านในซีเรีย ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาอาวุธให้กับกลุ่มเฮซบอลลาห์ กองกำลังที่อิหร่านสนับสนุนในเลบานอน

อิสราเอลไม่ยอมยืนยันว่า อยู่เบื้องหลังการโจมตีดังกล่าวหรือไม่ และด้านทำเนียบขาวไม่ได้ให้คำตอบกับวีโอเอ ว่า รัฐบาลวอชิงตันทราบจากอิสราเอลล่วงหน้าเรื่องการโจมตีดังกล่าวหรือไม่ และเชื่อหรือไม่ว่า สงครามจะยังกำหนดวงให้อยู่ในกาซ่าได้

ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ไบเดนได้สั่งให้ทหารโจมตี คาเทบ เฮซบอลลาห์ กลุ่มติดอาวุธในอิรักที่อิหร่านให้การสนับสนุน เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการที่ทำให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ สามรายบาดเจ็บในฐานทัพที่เมืองเออร์บิล ตอนเหนือของอิรัก

รัฐบาลกรุงแบกแดดประณามการโจมตีดังกล่าวว่าเป็น “การกระทำที่โหดร้าย” และล่วงละเมิดอธิปไตยของอิรัก ไม่เพียงเท่านั้น ในวันอังคาร กลุ่มติดอาวุธฮูตีที่อิหร่านให้การสนับสนุนในเยเมน ก็ออกมาแสดงความรับผิดชอบว่าเป็นผู้ใช้จรวดโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง จนทำให้รัฐบาลวอชิงตันต้องตั้งกองเรือรบนานาชาติออกมาลาดตระเวนน่านน้ำดังกล่าว

อีกหนึ่งสัญญาณของสงครามที่ลุกลามออกจากกาซ่า คือภาวะสู้รบที่อิสราเอลต้องเผชิญในหลายแนว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอล โยแอฟ กัลแลนต์ ยอมรับว่า อิสราเอลกำลังรบใน “สงครามหลายแนว” จำนวน 7 หน้า ได้แก่ ที่กาซ่า เวสต์แบงค์ เลบานอน ซีเรีย อิรัก เยเมน และอิหร่าน

จากศึกภายนอก สู่ศึก (การเมือง) ภายใน

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผลสำรวจความเห็นพบว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายของรัฐบาลไบเดนในกาซ่า จึงเป็นผลให้ไบเดนพยายามเลี่ยงการที่สงครามลุกลามบานปลาย

สหรัฐฯ เริ่มออกมาแสดงความกังวลในประเด็นด้านมนุษยธรรมในกาซ่าเพิ่มมากขึ้น และร้องขอให้อิสราเอลหันมาทำการโจมตีแบบจำกัดวง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลเทลอาวีฟ ดังที่เห็นได้จากการโจมตีทางอากาศในคืนก่อนวันคริสต์มาสที่คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์หลายร้อยราย โดยมีหลายรายเสียชีวิตอยู่ในพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัย

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ประกาศผ่านแถลงข่าวของพรรคลิคุด ว่า “เรากำลังจะขยายการสู้รบออกไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า”

ในวันถัดมา รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ แอนโธนี บลิงเคน และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ เจค ซัลลิแวน พบกับรอน เดอร์เมอร์ รัฐมนตรีกิจการด้านยุทธศาสตร์ของอิสราเอลในกรุงวอชิงตัน โดยหนึ่งในประเด็นหารือ คือ การเปลี่ยนให้อิสราเอลหันไปดำเนินการสู้รบที่เน้นไปที่การล็อกเป้าหมายบุคลากรฮามาสคนสำคัญ ๆ และเรื่อง “แนวทางที่ปฏิบัติได้จริงเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมและลดภัยอันตรายต่อพลเรือน” ตามข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวบอกกับวีโอเอ

ทริตา ฟาร์ซี รองประธานบริหาร ศูนย์ Quincy Institute for Responsible Statecraft กลุ่มการวิจัยในกรุงวอชิงตัน ระบุว่า รัฐบาลไบเดนกำลัง “พยายามทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ ยกเว้นหนึ่งเรื่องที่ชัดที่สุด ก็คือการหยุดยิงในกาซ่า”

ทริตากล่าวด้วยว่า “การหยุดยิงจะหยุดการโจมตีที่เกิดกับทหารสหรัฐฯ หยุดการโจมตีเรือในทะเลแดง และมีแนวโน้มมากที่จะทำให้ชายแดนเลบานอน-อิสราเอล สงบลง”

ทั้งนี้ อิสราเอลและสหรัฐฯ ต่างระบุว่าการหยุดยิงในตอนนี้ จะทำให้ฮามาสสามารถกลับมาตั้งตัวใหม่ได้

นับตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม การโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดินโดยกองทัพอิสราเอล ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 21,000 คนในกาซ่า ตามการรายงานของหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ส่วนการบุกโจมตีอิสราเอลของฮามาสเมื่อ 7 ตุลาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,200 คน โดยความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้นถือเป็นการนองเลือดที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่อิสราเอลและปาเลสไตน์มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนเมื่อหลายทศวรรษก่อน

  • ที่มา: VOA