Your browser doesn’t support HTML5
ปัจจุบัน หลายประเทศกำลังแข่งขันเพื่อเป็นมหาอำนาจในด้านอวกาศ ซึ่งส่งผลให้เกิดขยะอวกาศปริมาณมหาศาลลอยกระจัดกระจายอยู่รอบโลก ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมาก แต่แม้จะเล็กเท่าหัวน๊อตหรือตะปู ก็สามารถสร้างความเสียหายได้มากมายเมื่อเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง
นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ปัจจุบันมีขยะอวกาศขนาดเล็กหลายล้านชิ้นที่ลอยอยู่รอบโลก และมีขนาดหลากหลายตั้งแต่เล็กกว่าหนึ่งเซ็นติเมตรไปจนถึงราว 10 เซ็นติเมตร น้ำหนักรวมประมาณ 7,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงพอที่จะสร้างความเสียหายแก่ดาวเทียม ยานอวกาศ สถานีอวกาศ หรือแม้แต่ตัวนักบินอวกาศที่ออกไปปฏิบัติการด้านนอกยานอวกาศได้
ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามคิดหาวิธีทำความสะอาดขยะอวกาศเหล่านั้น
"ฉมวกอวกาศ" คือเครื่องมือใหม่ล่าสุดที่นักวิทยาศาสตร์ในโครงการ RemoveDEBRIS คิดค้นและพัฒนาขึ้น เพื่อใช้ทำความสะอาดขยะอวกาศที่ลอยอยู่ในวงโคจรรอบโลกของเรา
คุณไซม่อน เฟลโลว์เวส หนึ่งในวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษของโครงการ RemoveDEBRIS กล่าวว่า ขยะอวกาศปริมาณมหาศาลที่เกิดจากการปล่อยยานอวกาศและดาวเทียมในอดีต อาจสร้างปัญหาต่อยานอวกาศลำใหม่ๆ ที่กำลังเดินทางสู่ห้วงอวกาศ
คุณไซม่อน ระบุว่า หากขยะอวกาศสองชิ้นชนกันขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงในอวกาศ อาจทำให้เกิดเศษขยะเพิ่มขึ้นอีกมากมายจากการปะทะกันนั้น ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า และอาจเร็วถึง 17,000 กม./ชม.
นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้อธิบายว่า ฉมวกอวกาศจะถูกยิงจากยานหรือเครื่องยิง ใส่เป้าหมายคือขยะชิ้นใหญ่ที่ลอยอยู่นอกโลก เช่น ซากดาวเทียมเก่า ด้วยความเร็วประมาณ 20 เมตร/วินาที ทำให้สามารถทะลุผ่านแผ่นโลหะของซากขยะเหล่านั้นได้ ในลักษณะเดียวกับการยิงฉมวกเพื่อจับปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำ
จากนั้นฉมวกก็จะเกี่ยวยึดและดึงขยะนั้นกลับมา แล้วส่งกลับไปยังพื้นโลกเพื่อทำการย่อยสลายต่อไป
คุณเคที แบชฟอร์ด แห่งบริษัท Surray Satellite Technology ระบุว่า เทคโนโลยีดักจับขยะอวกาศมีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหา เพราะนอกจากจะสามารถนำไปใช้ดักจับขยะในอวกาศได้ทันทีแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นกระบวนการคิดของนักวิจัยเพื่อนำไปสู่การคิดค้นอุปกรณ์หรือวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหาขยะอวกาศนี้ในอนาคต
เวลานี้ นอกจากฉมวกอวกาศแล้ว นักวิจัยยังทำการทดลองใช้ 'ตาข่ายอวกาศ' เพื่อใช้ดักขยะต่างๆ ด้วยเช่นกัน