องค์การอวกาศยุโรปส่งดาวเทียมขึ้นสำรวจดวงดาวในทางช้างเผือกเพื่อทำแผนที่ทางช้างเผือกแบบสามมิติ

  • George Putic
องค์การอวกาศยุโรปหรือ ESA เพิ่งประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบโลกเพื่อสำรวจดวงดาวนับพันล้านดวงในทางช้างเผือกและถือเป็นความพยายามครั้งแรกในการสร้างคลังภาพถ่ายแบบสามมิติของดวงดาวจำนวนมหาศาลในระบบสุริยะจักรวาลที่โลกเราเป็นส่วนหนึ่ง

ดาวเทียมไกย่า (Gaia) เป็นดาวเทียมดวงใหม่ที่องค์การอวกาศยุโรปเพิ่งส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกเพื่อสำรวจดวงดาวในทางช้างเผือก ดาวเทียมไกย่ามีน้ำหนักถึงสองพันกิโลกรัมโดยติดตั้งบนจรวด Soyuz ของรัสเซียและถูกส่งจากฐานขององค์การอวกาศยุโรปที่ French Guina ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นจังหวัดโพ้นทะเลในทวีปอเมริกาใต้

ดาวเทียมไกย่าได้เดินทางถึงจุดโคจรรอบโลกที่ตั้งเอาไว้แล้ว ตัวดาวเทียมมีเกราะกันแสงอาทิตย์ติดตั้งเอาไว้เพื่อรักษาอุณหภูมิของอุปกรณ์ต่างๆรวมทั้งกล้อง telescope ให้เย็นตัว ดาวเทียมไกย่าต้องมีรักษาความสมดุลของระดับอุณหภูมิในตัวดาวเทียมและความคงที่ของเครื่องยนต์กลไกต่างๆ เพื่อรักษาศักยภาพในการตรวจจับดูดวงดาวต่างๆที่อยู่ไกลโพ้นและมองเห็นไม่ชัดเจน

Mark McCaughrean หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการนี้กล่าวว่านอกจากดาวเทียมไกย่าจะวัดดูจุดตำแหน่งต่างๆของดวงดาวนับพันพันล้านดวงแล้ว ยังจะวัดความเร็วและการเคลื่อนไหวของดวงดาวเหล่านั้นด้วย

เขากล่าวว่าภาพที่ดาวเทียมไกย่าจับได้จะแสดงให้เห็นภาพรวมของทางช้างเผือกทั้งหมด เราสามารถวิเคราะห์อนาคตของทางช้างเผือกได้ด้วยการวิเคราะห์ดูดวงดาวเหล่านั้นว่ามีลักษณะอย่างไรและเคลื่อนไหวอย่างไร นอกจากนี้ข้อมูลจากดาวเทียมยังจะช่วยวิเคราะห์อดีตของทางช้างเผือกได้ด้วยว่า ทางช้างเผือกก่อเกิดมาได้อย่างไร

ด้านศาสตราจารย์ Gerald F. Gilmore แห่งภาควิชาดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Cambridge University กล่าวว่าภาพสามมิติที่ได้จากดาวเทียมไกย่าจะกินพื้นที่ครึ่งหนึ่งของทางช้างเผือกและจะช่วยให้ค้นพบข้อมูลใหม่ๆเพื่อตอบคำถามว่าอะไรทำให้ทางช้างเผือกยังอยู่ได้

เขากล่าวว่าเขาเกิดความสนใจเป็นพิเศษในประเด็นที่ว่าสสารดำในทางช้างเผือกเกิดจากอะไรเพราะเป็นส่วนประกอบที่มีน้ำหนักมากที่สุดในทางช้างเผือกและเป็นตัวกลางที่ทำให้ทางช้างเผือกยังเกาะอยู่ด้วยกันหากไม่มีสสารดำในทางช้างเผือกจะเกิดอะไรขึ้น ดวงอาทิตย์จะหลุดลอยหายไปจากระบบสุริยจักรวาลของเราหรือไม่ หรือ ระบบสุริยะจักรวาลจะแตกสลายไปหรือเปล่า
ดาวเทียมไกย่าจะโคจรในระยะทางหนึ่งล้านห้าแสนกิโลเมตรเหนือระดับพื้นดินและจะเดินทางอยู่ในระดับวงโคจรรอบโลกที่คงที่ซึ่งเรียกว่าวงโคจร L2

ในจุดนี้ ดาวเทียมไกย่าจะเริ่มทำงานสำรวจดวงดาวในทางช้างเผือกเป็นระยะเวลานาน 5 ปี และจะถ่ายภาพดวงดาวในระบบสุริยะจักรวาลที่โลกเราเป็นส่วนหนึ่ง โดยจะถ่ายภาพอย่างน้อย 70 ภาพต่อดวงดาว เพื่อนำไปสร้างคลังภาพขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมดวงดาวราวหนึ่งล้านดวง
ค่าใช้จ่ายโดยรวมของโครงการดาวเทียมไกย่านี้อยู่ที่หนึ่งพันสามร้อยล้านดอลล่าร์สหรัฐ