มูลค่าอุตสาหกรรมเกี่ยวกับอวกาศสูงถึง 2 แสนล้านดอลล่าร์ และคาดว่าปีใหม่นี้ยังจะเติบโตขึ้นไปอีก

Your browser doesn’t support HTML5

อนาคตที่สดใสของธุรกิจยานอวกาศเพื่อการพาณิชย์

อวกาศ หรือพรมแดนสุดท้ายที่มนุษย์กำลังพยายามจะเข้าไปครอบครองใช้ประโยชน์ให้ได้นั้น เมื่อก่อนนี้มองกันว่า มีแต่รัฐบาลของประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้นที่จะขึ้นไปสำรวจและหาทางทำประโยชน์ได้

แต่ในขณะที่ความต้องการบริการจากอวกาศ ซึ่งรวมทั้งดาวเทียมสำหรับการสื่อสารคมนาคมและการถ่ายภาพ มีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอวกาศต้องเปลี่ยนวิธีการ

ทุกวันนี้การเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ทำให้ค่าใช้จ่ายในอุตสาหกรรมอวกาศลดลง และอนาคตของอุตสาหกรรมอวกาศในปีใหม่นี้ดูสดใสทีเดียว

Clayton Mowry ตัวแทนของสหรัฐในกลุ่ม European Space Consortium บอกว่าในปีที่แล้วยิงจรวดส่งยานอวกาศหรือดาวเทียมขึ้นไป 8 ครั้ง และวางแผนว่า ปีนี้จะทำให้ได้ถึง 13 ครั้ง เพราะมีความต้องการเทคโนโลยีที่อาศัยอวกาศเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่การแพร่ภาพกระจายเสียงแบบ Ultra High-Definition ไปจนถึง Satellite Broadband

และแม้องค์การอวกาศสหรัฐ หรือ NASA จะเลิกล้มโครงการยานอวกาศไป-กลับแล้ว ประเทศอื่นๆก็เรียงแถวเข้ามาแทนที่ เช่นจีน ซึ่งส่งยานอวกาศขึ้นไปดวงจันทร์สำเร็จเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และในเดือนนี้ อินเดียก็ส่งดาวเทียมสำหรับการสื่อสารคมนาคมขึ้นไปได้

ในอีกด้านหนึ่ง Kristian Von Bengtson ผู้ร่วมก่อตั้ง Copenhagen Suborbitals ตั้งเป้าไว้ว่า จะสร้างจรวดสำหรับยิงขึ้นอวกาศให้ได้ภายในปี 2020 โดยอาศัยการออกแบบที่หาดูได้จากแห่งข้อมูลเปิดและเงินบริจาคจากประชาชน

แต่ Janice Starzyk แห่ง Space Business Roundtable บอกว่า ปัญหาสำคัญที่หลายๆประเทศกำลังประสบ คือการชักจูงให้คนหนุ่มคนสาวหันมาเรียนวิชาชีพในด้านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกรรมศาสตร์สาขาการบินอวกาศ เพราะแน่ใจกันได้ว่า จะมีความต้องการผู้มีความรู้ความชำนาญในด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน