ผู้นำอาเซียนรวมตัวกันในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งเป็นการหารือนัดสุดท้ายของกลุ่มประชาคมอาเซียนในปีนี้ ซึ่งมีวาระทั้งวิกฤตเมียนมา ประเด็นพิพาททะเลจีนใต้ และการขับเคี่ยวของสองมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ที่ประเทศสมาชิกต่างมีความเห็นไม่ลงรอยกันและยังไม่พบทางออกของปัญหาเหล่านี้
การประชุมสุดยอดของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน จะเปิดฉากการหารือในวันอังคาร ที่กรุงจาการ์ตา ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างคุมเข้ม ไร้เงาประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ปกติแล้วจะเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนด้วยตนเอง ยิ่งเพิ่มบรรยากาศความมืดมนของความเป็นเอกภาพและกลมเกลียวในกลุ่มอาเซียนมากขึ้นไปอีก
ก่อนประชุมสุดยอดจะเริ่มขึ้น การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศได้เดินหน้าไปแล้วเมื่อวันจันทร์ เพื่อสรุปวาระการหารือระดับผู้นำประเทศ และหลังการหารือในวันอังคาร ผู้นำกลุ่มอาเซียนจะพบกับพันธมิตรเอเชียและชาติตะวันตกต่อในเวทีนอกรอบวันพุธและพฤหัสบดี ครอบคลุมประเด็นการค้าเสรี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นความมั่นคงของโลก ในฐานะที่อาเซียนเป็นสมรภูมิของการคับเคี่ยวของมหาอำนาจโลก
ที่น่าจับตาคือนายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เฉียง จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก หรือ East Asia Summit ซึ่งมีชาติอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมหารือกับผู้นำจากสหรัฐฯ จีน รัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ รวมทั้งจะหารือกับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คามาลา แฮร์ริส ที่ร่วมประชุมอาเซียนแทนปธน.ไบเดน และรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ข้ามการประชุมอาเซียนในสัปดาห์นี้ จะยังเดินทางไปอินเดียเพื่อร่วมประชุมจี20 และเดินทางไปเวียดนามต่อเพื่อยกระดับสัมพันธ์กับรัฐบาลฮานอย ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันย้ำว่าการข้ามเวทีอาเซียนไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณถึงการลดความสำคัญของอาเซียนแต่อย่างใด
มาร์ตี นาทาเลกาวา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ให้ทัศนะกับเอพีว่า “ระหว่างที่การไม่ปรากฎตัวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่น่าผิดหวังและมีนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์ แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องกังวลน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับบทบาทของอาเซียนที่ลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ”
นาทาเลกาวา กล่าวว่าความล้มเหลวในการควบคุมรัฐบาลทหารเมียนมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการ “เงียบเป็นเป่าสาก” เมื่อยามชายฝั่งจีนใช้น้ำแรงดันสูงเพื่อกีดกันเรือเสบียงฟิลิปปินส์ในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ และการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้หันเหไปอิงฝั่งสหรัฐฯ หรือไม่ก็จีนในด้านความมั่นคง ได้ตอกย้ำว่าทำไมความทะเยอทะยานในการเป็นศูนย์กลางด้านการทูตแห่งเอเชียของอาเซียนถึงถูกตั้งคำถาม
ระหว่างที่อินโดนีเซียพยายามจะเบี่ยงเบนความสนใจมาที่การกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนในธีมเวทีประชุมสุดยอดปีนี้ “ASEAN Matters: Epicentrum of Growth” แต่ประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์และด้านความมั่นคงยังคงเป็นคลื่นรบกวนและส่งผลกระทบด้านการทูตในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
วิกฤตเมียนมาได้สร้างความกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความเป็นเอกภาพของประชาคมอาเซียน และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาเซียนได้พยายามส่งเสริม “การหารืออย่างสร้างสรรค์” กับกองทัพเมียนมาที่เผชิญกับแรงกดดันจากชาติตะวันตกที่พยายามโดดเดี่ยวรัฐบาลทหารเมียนมาด้วยมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจเพื่อหวังให้เกิดการปฏิรูปขึ้น
รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เรตโน มาร์ซูดี ในฐานะเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน กล่าวกับรัฐมนตรีต่างประเทศในกลุ่มอาเซียนว่าประชาคมต่างรับรู้ถึง “สถานการณ์อันยากลำบากในภูมิภาค” ที่กลุ่มอาเซียนต้องเผชิญและก้าวผ่านไป ซึ่งรวมถึงวิกฤตเมียนมา และจะมีการทบทวนฉันทามติ 5 ข้อที่ทำไว้กับเมียนมาเมื่อปี 2021 ในเวทีนี้ด้วย
รอยเตอร์รายงานว่า รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย แซมบรี อับดุล คาดีร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการหารือระดับรัฐมนตรีที่กรุงจาการ์ตาว่า “มาเลเซียและประเทศสมาชิกอื่นเห็นว่าเราไม่สามารถยอมให้สิ่งนี้ดำเนินต่อไปโดยปราศจากมาตรการที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพกับรัฐบาลทหารเมียนมา” แต่ไม่ได้ระบุว่าประเทศใดในกลุ่มอาเซียนที่เห็นพ้องกับมาเลเซียในเรื่องนี้ และว่า “อุปสรรค” ที่กองทัพเมียนมาได้สร้างไว้ได้ขัดขวางแผนการสันติภาพของเมียนมา
ขณะที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา ฮุน มาเนต ที่เปิดตัวในการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกในฐานะผู้นำกัมพูชา เน้นย้ำถึง “การหารืออย่างสร้างสรรค์” กับรัฐบาลทหารเมียนมา พร้อมทั้งกล่าวว่าอาเซียนต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลังต่อรัฐอธิปไตยในโลกที่มีความอันตรายเพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมา อาเซียนดำเนินตามหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของแต่ละประเทศและบรรลุข้อตกลงต่าง ๆ ผ่านฉันทามติ เช่นเดียวกับวิกฤตเมียนมาที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้
สหภาพยุโรปได้เตือนว่าความสัมพันธ์ของอาเซียนจะได้รับผลกระทบหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา ซึ่งหลังจากนั้นรัฐบาลทหารเมียนมา ได้ตอบโต้ด้วยการแจ้งต่ออาเซียนว่าเมียนมาอาจไม่สามารถเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนซึ่งเป็นตำแหน่งหมุนเวียนในปี 2026 ได้ และบรรดาผู้นำอาเซียนจะตัดสินใจกันที่กรุงจาการ์ตาว่าจะขอให้ทางฟิลิปปินส์เข้ามารับหน้าที่แทนในช่วงเวลาดังกล่าวหรือไม่
ดินนา พราปโต ราฮาร์จา นักวิเคราะห์และอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือของอาเซียนตกอยู่ในอันตรายหากวิกฤตเมียนมายังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าอาเซียนไม่มีกลไกแก้ไขความขัดแย้งภายในประเทศ แต่ควรมีความยืดหยุ่นพอในการควบคุมอิทธิพลและมีความเชื่อมโยงภายในสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
- ที่มา: เอพีและรอยเตอร์