การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดลตาทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลกระทบหนักต่อภาคการผลิตและโรงงานต่างๆ ที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกหยุดชะงัก และอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ในภูมิภาคนี้มีปัญหาด้วย
สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า ผลสำรวจโรงงานจำนวนมากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสัปดาห์นี้แสดงให้เห็นว่า ปริมาณการผลิตในพื้นที่ส่วนใหญ่ลดลงอย่างหนักในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นภาพที่แตกต่างจากภาคการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและในซีกโลกตะวันตก ที่มีความสามารถในการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ได้ดีจนสามารถเดินหน้าขยายธุรกิจได้ แม้อัตราการเติบโตจะชะลอตัวลงก็ตาม
สาเหตุหลักที่ภาคการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องประสบปัญหาหยุดชะงักนั้น เป็นเพราะการกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรราว 600 ล้านคนในภูมิภาคนี้ที่เป็นไปอย่างล่าช้า ขณะที่ รัฐบาลต่างๆ มีปัญหาในการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน พร้อมๆ กับการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ ที่ทำให้โรงงานหลายแห่งขาดแคลนคนงานไปโดยปริยาย
นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร HSBC เตือนว่า อัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำใน อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย รวมทั้งการที่วัคซีนที่ฉีดไปนั้นอาจมีประสิทธิผลต่ำ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประชากรของประเทศเหล่านี้ยังเสี่ยงที่จะมีโอกาสติดเชื้อจากการระบาดในปัจจุบัน รวมทั้ง การที่เชื้อไวรัสอาจกลายพันธุ์ต่อไปในอนาคต
รายงานข่าวยังได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่เป็นฐานการผลิตหลักแห่งหนึ่งของบริษัท โตโยตา มอเตอร์ ซึ่งเพิ่งสั่งระงับการผลิตที่โรงงาน 3 แห่งของตนเมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน อันเป็นผลมาจากภาวะระบาดใหญ่ทั่วโลกของโคโรนาไวรัส ขณะที่ บริษัท สยามอโกรฟู้ด อินดัสทรี ซึ่งเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปรายใหญ่ ที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก ประสบปัญหาขาดแคลนคนงานที่เดินทางกลับประเทศของตนไป แล้วไม่สามารถกลับเข้ามาในไทยได้ เพราะมาตรการปิดพรมแดนของรัฐ
ส่วนที่ เวียดนาม ซึ่งเป็นฐานการผลิตของบริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่ง เช่น ซัมซุง ฟ็อกซ์คอนน์ และ ไนกี้ มีรายงานว่า บริษัทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศต้องกำหนดไม่ให้มีการทำงานกะดึกที่สายการผลิตต่างๆ ขณะที่ มาตรการล็อกดาวน์ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางสัดส่วน 67 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณซื้อขายในตลาดโลก ทำให้โรงงานหลายแห่งต้องระงับสายการผลิตมาตลอดเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม