เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เร่งพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงาน

  • Daniel Schearf
    ทรงพจน์ สุภาผล

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เร่งพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงาน

เศรษฐกิจแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศต่างๆในแถบนี้ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว และขณะนี้เกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างพูดกันถึงพลังงานนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาท้าทายมากมายต่อการพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาคนี้

ผู้นำธุรกิจและผู้นำรัฐบาลหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างเกรงว่าอีกไม่นานความต้องการพลังงานในภูมิภาคนี้จะสูงเกินปริมาณพลังงานที่สามารถจัดหาหรือผลิตได้ อันเป็นผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจ และเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนามและไทย ต่างวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในช่วงทศวรรษหน้า และคาดว่าอีกหลายประเทศในแถบนี้จะมีโครงการลักษณะเดียวกัน

คุณ Vuong Huu Tan ประธานคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูของเวียดนามกล่าวว่า แผนการณ์สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างน้อย 8 แห่งจะช่วยรับรองได้ว่าเวียดนามจะมีความมั่นคงด้านพลังงานและเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติได้ เวลานี้เวียดนามขาดแคลนไฟฟ้าปริมาณมากและบรรดานักลงทุนต่างกังวลเรื่องนี้ การสร้างความมั่นคงด้านปริมาณพลังงานไฟฟ้าในเวียดนามจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ฟิลิปปินส์เรียกว่าโรงงาน Bata’an ซึ่งก่อสร้างตั้งแต่ 27 ปีที่แล้ว แต่เนื่องจากความกังวลเรื่องแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด โรงงานดังกล่าวจึงยังไม่เคยเปิดใช้ อย่างไรก็ตามทางการฟิลิปปินส์กำลังพิจารณาว่าจะเปิดใช้โรงงาน Bata’an ในเร็ววันนี้

ในขณะเดียวกัน ความกังวลเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดูจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องต้นทุนการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ที่แพงกว่าการผลิตพลังงานชนิดอื่นๆ ด้วยเหตุนี้หลายประเทศในภูมิภาคนี้จึงยังคงเดินหน้ากับโครงการสร้างเขื่อนรวมทั้งมองหาแหล่งพลังงานอื่น เช่นพลังงานจากถ่านหิน แม้ความห่วงใยเรื่องปัญหามลพิษจะถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง

คุณ Bob Kamandanu ประธานสมาคมเหมืองถ่านหินอินโดนีเซียกล่าวว่า ปัจจุบันถ่านหินยังคงเป็นแหล่งพลังงานราคาถูกที่ยังต้องใช้ต่อไป ประเด็นสำคัญจึงเป็นเรื่องเทคโนโลยี ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดมลพิษจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลงให้ได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเชื่อว่าปัญหาท้าทายหรืออุปสรรคต่างๆสำหรับการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ที่กล่าวมานี้ อาจหมายความว่าคงจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าพลังงานนิวเคลียร์จะผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในภาคพลังงานใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างสมบูรณ์