ประเทศอาเซียนหามาตรการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโคโรนาไวรัส

สิงคโปร์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส โควิด-19 ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวตามชายหาดที่ประเทศมาเลเซียและไทยลดน้อยลง รวมทั้งการชะลอตัวของบรรดาโรงงานซึ่งเกิดจากการที่คนงานพากันอยู่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการติดโรค และความต้องการสินค้าของอินโดนีเซียก็ลดลง

นักวิเคราะห์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่า ภูมิภาคที่มีประชากร 654 ล้านคนนี้จะสามารถรอดพ้นจากวิกฤติการณ์โรคระบาดนี้ไปได้ แต่ผลลัพธ์ที่ตามมานั้นรุนแรงเนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เงินทุนและวัตถุดิบที่เข้ามายังยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ขึ้นอยู่กับประเทศจีนอย่างมาก

ในขณะที่เวียดนามและฟิลิปปินส์ต่างคาดหวังว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากนักลงทุนต่างชาติที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงในประเทศจีน รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างกำลังพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย และอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

Tham Siew Yean ศาสตราจารย์กิตติคุณที่มหาวิทยาลัย Kebangsaan Malaysia กล่าวว่า บรรดาบริษัทผู้ผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจต้องกระจายแหล่งจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนต่าง ๆ จากที่พึ่งพาจีนเพียงแหล่งเดียว ซึ่งเรื่องนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าเนื่องจากแหล่งทางเลือกด้านวัตถุดิบที่มีอยู่นั้นมีราคาที่แพงกว่าจีน

หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างหวังว่า มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อทางการค้าได้

ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 4.75% เมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอยู่ที่ 1% และมาเลเซียอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อความต้องการของผู้บริโภคลดลงเช่นกัน

สมาคมอาเซียนระบุไว้เมื่อปีที่แล้วว่า จะลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคกับออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และอาจรวมถึงอินเดียด้วยในช่วงปีนี้ โดยข้อตกลงดังกล่าวจะลดภาษีซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก และถือเป็นการช่วยสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ แม้จะมีผลกระทบด้านลบต่อการค้าจาก COVID-19 ก็ตาม