เด็กลงอีกปี! เกาหลีใต้เตรียมปรับเกณฑ์ ‘นับอายุ’ ให้เป็นสากล

South Koreans Want to be a Year Younger, and They May Soon Get Their Wish

คณะทำงานของประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ ชูแผนการปรับเกณฑ์การนับอายุให้เป็นสากล ซึ่งอาจจะยังผลให้ทางการยกเลิกการนับอายุในครรภ์ และชาวเกาหลีใต้จะอายุเด็กลงอย่างน้อย 1 ปี

อีกไม่นานนี้ ชาวเกาหลีใต้จะมีอายุเด็กลงอย่างน้อย 1 ปี หากผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้ทำตามสัญญา ...

ยูน ซอก ยอล (Yoon Suk-yeol) อดีตอัยการสูงสุด วัย 61 ปี ว่าที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้จากพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม People Power Party เตรียมก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำเกาหลีใต้ในเดือนพฤษภาคมนี้ ได้ให้คำมั่นว่าจะยกเลิกวิธีการ ‘นับอายุ’ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเกาหลีใต้นี้

ระบบการนับอายุยอดนิยม ที่เรียกว่า อายุเกาหลี เด็กทารกจะมีอายุ 1 ขวบปีตั้งแต่ลืมตาดูโลก และจะมีอายุเพิ่มอีก 1 ปี ในทุกวันที่ 1 มกราคม นั่นหมายความว่า เด็กที่เกิดในวันที่ 31 ธันวาคม จะมีอายุเป็น 2 ขวบทันทีที่เข้าสู่ศักราชใหม่

วิธีการนับอายุแบบดั้งเดิมของเกาหลีใต้นี้ เคยใช้อย่างแพร่หลายในเอเชียตะวันออก แต่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ได้ปรับใช้ระบบการนับอายุให้อิงหลักสากลกันมานานแล้ว

สำหรับจุดเริ่มต้นของการนับอายุในรูปแบบนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด โดยมีทฤษฎีหนึ่ง คือ ระบบการนับอายุนี้จะหมายถึงการยอมรับสถานะการมีชีวิตของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ขณะที่มีอีกแนวคิดที่ว่าการนับอายุเช่นนี้ เป็นเพราะระบบการนับเลขโบราณไม่มีแนวคิดเรื่องเลขศูนย์

ที่ผ่านมา เกาหลีใต้พยายามปรับเปลี่ยนการนับอายุจากวิธีการดั้งเดิม แต่ความพยายามเหล่านี้ได้นำไปสู่ความสับสนมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน เกาหลีใต้มีวิธีการระบุอายุอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน และชาวเกาหลีใต้จะต้องประเมินเองว่าวิธีนับอายุแบบใดที่สอดรับกับตัวบทกฎหมายหรือบริบทสังคมต่างๆ

ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา เอกสารของทางการและตามกฎหมายเกาหลีใต้ได้ปรับมาใช้ระบบการนับอายุแบบสากล ซึ่งทารกที่เกิดมาจะมีอายุเริ่มต้นที่ 0 ปี และเพิ่ม 1 ปีเมื่อถึงวันเกิดของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ในบริบททางสังคมที่เป็นอยู่ ชาวเกาหลีใต้เกือบทุกคนยังคงนับอายุตัวเองด้วยการใช้วิธีนับอายุแบบดั้งเดิมอยู่ดี

ส่วนวิธีที่สาม คือ การนับอายุที่เรียกว่า year-age method หมายถึง ทารกที่เพิ่งเกิดจะมีอายุ 0 ขวบปี และเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี ทุกวันที่ 1 มกราคมของปีใหม่ วิธีนับอายุแบบนี้ จะใช้เพื่อกำหนดเกณฑ์อายุการเข้าเรียนของเด็กเกาหลีใต้และช่วงวัยเกณฑ์ทหาร

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ชาวเกาหลีใต้ออกมาสนับสนุนระบบการนับอายุที่เรียบง่ายกว่าที่เป็นอยู่ การสำรวจเมื่อเดือนมกราคมของบริษัทวิจัย Hankook Research พบว่า 71% ของชาวเกาหลีใต้ สนับสนุนการยกเลิกระบบการนับอายุแบบดั้งเดิม

โดยฝ่ายวิจารณ์การนับอายุแบบดั้งเดิม มองว่า เป็นสิ่งที่สร้างความสับสน และนำไปสู่ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอันน่าอึดอัดกระอักกระอ่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากรูปแบบวัฒนธรรมลำดับขั้นอาวุโสของเกาหลีใต้ ซึ่งอายุเป็นตัวกำหนดวิธีการปฏิบัติตัวกับคนอื่นๆ

ในเกาหลีใต้ ผู้คนที่เกิดช่วงท้ายปีมักรู้สึกว่าพวกเขาเสียเปรียบหรือด้อยกว่า โดยเฉพาะกับเด็กๆ เพราะพวกเขาจะต้องเข้าชั้นเรียนกับเด็กที่อายุมากกว่าและเก่งกว่า แต่กลับได้รับการปฏิบัติเหมือนเด็กอายุเท่ากัน ซึ่งยิ่งเป็นการสร้างแรงกดดันในสังคมการศึกษาของเกาหลีใต้ที่มีการแข่งขันสูง

ลี ยุน ชุล ชาวเกาหลีใต้ที่ทำร้านกาแฟในกังวอน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาหลีใต้ บอกว่า ตอนนี้ลูกชายในวัย 9 ขวบตามวิธีการนับอายุดั้งเดิมของเกาหลีใต้ ถูกมองว่าเป็นเด็กเรียนรู้ช้าในโรงเรียนเสียแล้ว ทั้งที่จริงเขาไม่ได้เรียนรู้ช้าอย่างที่ตัดสินกัน เพียงแต่เป็นเด็กที่เกิดช่วงท้ายปี คือ เดือนตุลาคมเท่านั้น ซึ่งอายุน้อยกว่าเด็กคนอื่นๆ ในช่วงปีการศึกษาเดียวกัน

ในมิติของชายเกาหลีใต้ ผู้ที่เกิดช่วงท้ายปีจะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารก่อนเพื่อนฝูงในวัยเดียวกัน แม้ว่าช่วงเวลาอาจดูแตกต่างไม่มากนัก แต่นั่นอาจหมายถึงการตัดสินใจด้านการศึกษาและโอกาสการทำงานในอนาคตของพวกเขาด้วยเช่นกัน

แต่สำหรับผู้ที่เกิดช่วงต้นปีก็มีความท้าทายในชีวิตด้วยเช่นกัน จนกระทั่งช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 2000 ชาวเกาหลีใต้ที่เกิดในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ จะเข้าโรงเรียนได้ก่อนใครในช่วงปีการศึกษาของพวกเขา เพราะปีการศึกษาของเกาหลีใต้ ยังคงอ้างอิงตามปฏิทินจีน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกุมภาพันธ์ของปีถัดไป การได้เข้าเรียนก่อนเพื่อน สร้างความท้าทายกับเด็กกลุ่มนี้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้นคนอื่นๆ เพราะปกติแล้วเกาหลีใต้จะเรียกคนที่อายุเท่ากันว่าเป็น ‘เพื่อน’ และไม่เรียกชื่อจริงของคนที่อายุมากกว่าด้วย

ชิม ฮานุย ชาวเกาหลีใต้ชานกรุงโซล ที่เกิดในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1990 และต้องเข้าเรียนก่อนเพื่อนรุ่นเดียวกันไป 1 ปี บอกว่า รู้สึกไม่ค่อยสบายใจนักตอนที่เรียนหนังสือเนื่องจากอายุของเธอ และตามธรรมเนียมของเกาหลีนั้น เธอควรจะเป็นเพื่อนกับคนที่เกิดในปี ค.ศ. 1990 ด้วยกัน แต่เพื่อนร่วมชั้นเรียนของเธอส่วนใหญ่เกิดในปี ค.ศ. 1989 ทำให้เธอไม่รู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวเป็นเพื่อนกับคนในชั้นเรียนดีหรือไม่ และแม้ว่าปัจจุบันเมื่อเธอเติบโตขึ้นจะมีโอกาสไม่มากนักที่จะได้รู้ว่าใครเกิดในปีไหนกันบ้าง เธอยังหวังว่าระบบการนับอายุเกาหลีใต้จะสิ้นสุดลงเสียที เพราะสิ่งนี้จะช่วยลดความสับสนและลดต้นทุนทางสังคมได้มาก

เมื่อเร็วๆ นี้ ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากออกมาแสดงความพอใจหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศ ที่ใช้เกณฑ์อายุที่ไม่คงเส้นคงวานี้เป็นตัวกำหนดเกณฑ์การเข้ารับวัคซีน เป็นเหตุให้หลายคนต้องแสดงผลการเข้ารับวัคซีน ทั้งที่ไม่ถึงเกณฑ์จะต้องฉีดเสียด้วยซ้ำ

อีกทั้งยังมีประเด็นความสับสนว่าใครที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มีไว้สำหรับคนอายุน้อย อย่างเช่น นโยบายอุดหนุนด้านที่อยู่อาศัย หรือความช่วยเหลือจากภาครัฐสำหรับธุรกิจขนาดย่อม

ว่าที่ปธน. ยูน ซึ่งเกิดในเดือนธันวาคม ได้ชูนโยบายยกเลิกการนับอายุเกาหลีในการหาเสียงเลือกตั้งที่ทำให้เขาได้รับชัยชนะในครั้งนี้ โดยระบุว่า เกณฑ์การนับอายุแบบสากลจะกลายเป็นมาตรฐานเดียวทั้งในด้านกฎหมายและด้านสังคม แต่จะมีการปรับเปลี่ยนไปทีละเฟส เนื่องจากความสลับซับซ้อนของวิธีการนับอายุดั้งเดิม

แม้ว่าการยกเลิกการนับอายุเกาหลีจะล้มเหลวมาก่อนในอดีต แต่นักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่า แผนการของว่าที่ปธน.ยูนอาจประสบความสำเร็จได้ เพราะได้แรงสนับสนุนจากพรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายและจากประชาสังคมโดยรวม