Your browser doesn’t support HTML5
เกาหลีใต้มีอัตราการฆ่าตัวตายติดอันดับสองในบรรดาประเทศสมาชิกของโออีซีดีมาตลอดทุกปีตั้งเเต่ปี ค.ศ. 2007 ยกเว้นในปี ค.ศ. 2010 และ 2011 ที่ขึ้นไปอยู่อันดับที่หนึ่งและมาปีนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้บอกว่าต้องออกมาตรการเเก้ปัญหานี้
หยาง ดอ ซุก ศาสตราจารย์วุฒิคุณที่ภาควิชานโยบายสังคม มหาวิทยาลัย กาชน กล่าวว่า อัตราการฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้สูงเนื่องจากวัฒนธรรมที่เน้นความสำเร็จหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในปี 1997 เเละอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวที่สูงมากในขณะนี้ก็มีส่วนทำให้อัตราการฆ่าตัวตายสูง
อย่างไรก็ตาม Mitch Prinstein ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชเเละประสาทสมองที่มหาวิทยาลัยนอร์ท แคโรไลน่า ที่ เชปเปอร์ ฮิลล์ กล่าวว่าสาเหตุการฆ่าตัวตายไม่ได้มีเพียงสาเหตุเดียว เขากล่าวว่าบางคนรู้สึกหมดหนทางเเละซึมเศร้ามานานก่อนจะปลิดชีวิต แต่บางคนอาจปลิดชีวิตตนเองเเทบทันทีหลังประสบปัญหาใดปัญหาหนึ่ง
รายงานของโออีซีดีซึ่งรวบรวมจากข้อมูลตั้งเเต่ปี 2006 พบว่าชาวเกาหลีใต้ 25.8 คนจาก 100,000 คนฆ่าตัวตายและโดยภาพรวมเเล้ว จำนวนคนฆ่าตัวตายในประเทศสมาชิกของโออีซีดีได้ลดลงมาตั้งเเต่ปี ค.ศ. 1985 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคนฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้ยังสูงอยู่ตลอด มาจนถึงเมื่อ 8 ปีที่แล้วที่เริ่มลดลงมาจาก 33.8 คนต่อเเสนคน
ศาสตราจารย์หยางกล่าวว่าส่วนมากชาวเกาหลีใต้มองว่าการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาส่วนตัว ไม่ใช่ปัญหาสังคม แต่ในเกาหลี การฆ่าตัวตายเกิดจากสาเหตุทางสภาพเเวดล้อม ทางสังคม เเละทางเศรษฐกิจ เขามองว่ารัฐบาล สังคมเเละภาคเอกชนในเกาหลีใต้ควรร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหานี้
ตอนต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มแผนปฏิบัติการร่วมกันระหว่างกระทรวงเพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายลงมาที่ 17 ต่อ 100,000 คนภายในปี 2022
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เกาหลีใต้ประสบเหมือนที่อื่นๆ คือการรังแกทางออนไลน์ หรือ Cyberbullying และปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโรงเรียนเท่านั้น ในเกาหลีใต้ "mom cafes" เป็นกลุ่มสังคมทางออนไลน์ที่บรรดาคุณแม่เขียนเเบ่งปันข้อมูลกันเกี่ยวกับโรงเรียน ครูเเละเรื่องอื่นๆ
เมื่อไม่นานมานี้ ครูสอนชั้นอนุบาลฆ่าตัวตายหลังได้รับข้อความรังควานหลายข้อความจากสมาชิกของกลุ่ม "mom cafe"
สมาชิกของกลุ่มคนหนึ่งที่ไม่ออกนามกล่าวหาว่าครูคนดังกล่าวผลักเด็กนักเรียนคนหนึ่งระหว่างไปทัศนศึกษา ข้อความดั้งเดิมดังกล่าวไม่ได้ระบุชื่อครู เเต่สมาชิกคนอื่นๆ ของกลุ่มสืบรู้ว่าใครคือครูคนดังกล่าว เเล้วโพสต์ข้อมูลส่วนตัวของครูทางออนไลน์และสามวันหลังจากได้รับข้อความรังควานจากบรรดาคุณแม่สมาชิกของกลุ่ม "mom cafe" ครูคนดังกล่าวฆ่าตัวตาย
ศาสตราจารย์พรินสไตน์แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ท แคโรไลน่า อธิบายว่าปัจจัยทางสังคม อย่างการรังแกทางจิตใจอาจเป็นสาเหตุให้คนฆ่าตัวตายได้เพราะการรังแกทางจิตใจทำร้ายความต้องการขั้นพื้นฐานของคนที่ต้องการการยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและมีคนชื่นชอบ
เเละเขาชี้ว่าการรังแกทางจิตใจผ่านทางออนไลน์ยิ่งมีผลกระทบหลายเท่าตัวเพราะมีความถาวรมากกว่าการรังแกที่เกิดขึ้นจริงๆ ในโลกที่จับต้องได้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)