เกาหลีใต้กู้ซากจรวดภารกิจส่งดาวเทียมล่มของเกาหลีเหนือ

  • VOA

This photo provided by South Korea's Defense Ministry

กองทัพเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการเก็บกู้ซากจรวดที่เกาหลีเหนือใช้ในโครงการส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจรโลกแต่ล้มเหลวเมื่อกว่า 2 สัปดาห์ก่อน

รายงานข่าวระบุว่า หลังความพยายามดำน้ำค้นหามานานนับสัปดาห์ เจ้าหน้าที่กองทัพเกาหลีใต้พบชิ้นส่วนรูปทรงกระบอกของจรวดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เมตรและความยาว 12 เมตรที่ก้นทะเลเหลือง (Yellow Sea) ในวันพฤหัสบดี โดยเชื่อว่า ชิ้นส่วนดังกล่าวเป็นชั้นที่ 2 ของส่วนประกอบจรวดที่มีทั้งหมด 3 ชั้น

คณะผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ชิ้นส่วนนี้ถูกพบที่ความลึกราว 75 เมตร ในจุดที่ห่างจากชายฝั่งตะวันตกของประเทศไปประมาณ 200 กิโลเมตร

นักดำน้ำลึกหลายสิบคนพร้อมเรือและเครื่องบินหลายลำของกองทัพเกาหลีใต้ร่วมในปฏิบัติการค้นหาซากจรวดดังกล่าวที่มีชื่อว่า ชอลลิมา-1 (Chollima-1) มาตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่เกาหลีเหนือพยายามส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศแต่ประสบความล้มเหลวเสียก่อน

ภาพถ่ายที่เกาหลีใต้เปิดเผยออกมาแสดงให้เห็นเศษซากชิ้นส่วนที่กู้ขึ้นมาได้ซึ่งยังมีส่วนลำตัวจรวดในสภาพสมบูรณ์อยู่ แต่มีการติดชื่อ “ชอนมา” (Cheonma) แม้เกาหลีเหนือจะเรียกจรวดนี้ว่า ชอลลิมา-1 ก็ตาม

กองทัพเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ผู้เชี่ยวชาญของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ จะร่วมกันศึกษาชิ้นส่วนจรวดดังกล่าว ขณะที่ ปฏิบัติการค้นหาซากจรวดในทะเลจะยังเดินหน้าต่อเพื่อหาชิ้นส่วนชั้นที่ 3 และอุปกรณ์นำจรวดขึ้นไป (payload)

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า เกาหลีใต้ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรมากมายมาเพื่อดำเนินปฏิบัติการค้นหาเศษซากจรวดของเกาหลีเหนือ เพราะทั้งหมดนี้เป็นโอกาสที่หายากมากที่คนภายนอกจะได้ศึกษารายละเอียดความก้าวหน้าด้านขีปนาวุธของกรุงเปียงยางและเพื่อช่วยตรวจสอบว่า ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นนั้นมาจากที่ใดบ้าง

สื่อกรุงเปียงยางระบุว่า การยิงจรวดเพื่อส่งดาวเทียมลาดตระเวณทางทหาร “มัลลิกยอง-1” ซึ่งล้มเหลวไปนี้ มีสาเหตุจากความไม่มีเสถียรภาพของเครื่องยนต์ชั้นที่ 2

This photo provided by South Korea's Defense Ministry, shows an object salvaged by South Korea's military. (South Korea Defense Ministry via AP)

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นด้วยว่า เครื่องยนต์ชั้นที่ 2 สภาพดีและอยู่ภายในลำตัวจรวดที่เก็บกู้มาได้น่าจะเปิดทางให้เกาหลีใต้สามารถประเมินความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของเกาหลีเหนือที่อาจนำไปปรับเปลี่ยนเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกลข้ามทวีปต่อไปได้

สื่อยอนฮัพของเกาหลีใต้รายงานว่า ในส่วนของชิ้นส่วนเครื่องยนต์ชั้นที่ 1 นั้น เชื่อกันว่า น่าจะเป็นส่วนที่คล้าย ๆ กับเครื่องยนต์ของขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกลข้ามทวีป ฮวาซอง-15 (Hwasong-15) หรือ ฮวาซอง-17 (Hwasong-17) ขณะที่ เครื่องยนต์ชั้นที่ 2 น่าจะเป็นรุ่นที่ใหม่กว่า

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพเกาหลีใต้เปิดเผยว่า เรือรบของจีนจำนวนหนึ่งออกตระเวณในทะเลเหลืองเพื่อปฏิบัติการค้นหาเหมือนกัน แต่ไม่ได้รบกวนปฏิบัติการของเกาหลีใต้เนื่องจากอยู่ในคนละส่วนของทะเล

ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือประกาศความมุ่งมั่นที่จะส่งดาวเทียมสอดแนมทางทหารขึ้นวงโคจรโลกให้ได้ พร้อม ๆ กับโต้กลับเสียงวิจารณ์จากผู้นำโลกต่อการเดินหน้ายิงทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง อันเป็นสิ่งที่ท้าทายมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่สั่งห้ามการทดสอบขีปนาวุธวิถีโค้งต่าง ๆ

และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา กรุงเปียงยางก็เพิ่งกลับมายิงทดสอบขีปนาวุธดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบราว 2 เดือน โดยเป็นทดสอบขีปนาวุธพิสัยใกล้ 2 ลูก ซึ่งแถลงการณ์ที่สื่อ KCNA ของรัฐบาลเปียงยางโพสต์ทางเว็บไซต์ของตนก่อนการยิงทดสอบนั้นมีเนื้อหาติเตียนต่อว่าการซ้อมรบร่วมระหว่างกองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ที่ใช้กระสุนจริงด้วย พร้อมประกาศว่า ตนจะ “ทำการโต้กลับเต็มรูปแบบ” ต่อแผนงานทางทหารดังกล่าวด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ