ปธน.เกาหลีใต้ถูกสภาถอดถอน กรณีประกาศกฎอัยการศึก

  • VOA

ประธานาธิบดียูน ซุก ยอลของเกาหลีใต้ ที่การประท้วงในกรุงโซล 13 ธ.ค. 2024

สภานิติบัญญัติเกาหลีใต้ลงมติถอดถอนประธานาธิบดียูน ซุก ยอลในวันเสาร์ หลังจากที่เขาพยายามออกคำสั่งใช้กฎอัยการศึก

จากนี้ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้จะรับเรื่องไปพิจารณาว่าจะปลดเขาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศอย่างเป็นทางการหรือไม่

ในการโหวตของสภาเมื่อวันเสาร์ สมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม 12 คนร่วมลงมติไปในทางเดียวกับฝ่ายค้านในการถอดถอนประธานาธิบดียูน

ผลการลงคะเเนนในสภา ชี้ว่ายูนถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยคะเเนน 204 ต่อ 85

ในช่วงรอคำตัดสินจากศาลรัฐธรรรมนูญ ยูนต้องระงับการปฏิบัติหน้าที่ โดยนายกรัฐมนตรี ฮัน ดัคโซ จะทำหน้าที่ประธานาธิบดีรักษาการ

Your browser doesn’t support HTML5

12 conservatives join opposition to impeach Yoon

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ยูนประกาศกฎอัยการศึกเป็นเวลาสั้น ๆ เขาอ้างว่าต้องการใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อ "กำจัดกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐฯ" และ "ปกป้องความเป็นระเบียบตามรัฐธรรมนูญ"

ตั้งเเต่นั้นเป็นต้นมาสมาชิกสภาเตรียมยื่นถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้หนึ่งในกลุ่มสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศประกาศผละงานประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ยูนลาออกจากตำแหน่ง

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งให้ใช้กฎอัยการศึกครั้งแรกตั้งแต่ที่เกาหลีใต้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยราว 40 ปีก่อน

แต่คำประกาศของเขาถูกโหวตคว่ำในสภาด้วยเสียง 190 ต่อ 0 เป็นเหตุให้ยูนต้องประกาศยุติกฎอัยการศึก

ทั้งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (People Power Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลแนวทางอนุรักษ์นิยม และพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ต่างออกมาตำหนิประธานาธิบดียูนที่ออกมาประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้ โดยบอกว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้ง "ผิดกฎหมายและขัดกับรัฐธรรมนูญ"

หลังมีรายงานข่าวถอดถอนผู้นำรัฐบาลกรุงโซลออกมา ทำเนียบขาวกล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ยกหูโทรศัพท์คุยกับนายกรัฐมนตรีฮันแล้ว

แถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุว่า ไบเดนได้ยืนยันจุดยืนของสหรัฐฯ ในการคงไว้ซึ่งความมุ่งมั่นต่อประชาชนชาวเกาหลีใต้ และได้แสดงความมั่นใจว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างสองประเทศ “จะยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญของสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกต่อไป”

ผู้ชุมนุมประท้วงในเกาหลีใต้เรียกร้องให้มีการปลดปธน.ยูน ซุก ยอล รวมตัวกันที่หน้าอาคารสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2567

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนที่สภานิติบัญญัติเกาหลีใต้จะลงมติถอดถอนยูน พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรครัฐบาลประกาศคัดค้านกระบวนการดังกล่าว แต่ก็เปิดทางให้สมาชิกได้ออกเสียงอย่างอิสระ ขณะที่ ผลการลงมติที่นำไปสู่การถอดถอนประธานาธิบดีผู้นี้ทำให้ประชาชนนับแสนคนที่มารวมตัวกันที่หน้าสภาฯ โห่ร้องรับด้วยความยินดีด้วย

ปธน.ยูน ซุก ยอล กล่าวปราศรัยต่อประชาชน หลังสภานิติบัญญัติประกาศมติถอดถอน

แต่ยูนระบุในการกล่าวปราศรัยหลังรับทราบผลการลงคะแนนว่า กระบวนการนี้เป็นเพียงการหยุดพักการทำหน้าที่ประธานาธิบดีของตนเป็นการชั่วคราวเท่านั้น และกล่าวด้วยว่า “แม้ว่า ผมจะหยุดการทำงานไว้ ณ เวลานี้ เส้นทางที่ผมดำเนินมาพร้อมกับประชาชนในช่วง 2 ปีครึ่งผ่านมาไปยังอนาคตนั้นยังไม่หยุดลง ผมจะไม่ยอมแพ้”

แดเนียล พิงคส์ตัน ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยทรอย ในกรุงโซล คิดว่า ศาลเกาหลีใต้จะรับรองกระบวนการถอดถอนยูน และระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นชัดเจนแล้วว่า ยูนละเมิดมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญซึ่งชี้ชัดว่า ประธานาธิบดีต้องแจ้งต่อสภานิติบัญญัติ “โดยไม่รอช้า” ว่ามีการประกาศกฎอัยการศึกแล้ว แต่ปธน.เกาหลีใต้กลับไม่ได้ทำเช่นนั้น และยังมีคำให้การจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารด้วยว่า ยูนได้สั่งให้มีการสกัดกั้นไม่ให้สมาชิกสภาฯ เข้ามาในอาคาร

ยูน ผู้ซึ่งมีคะแนนนิยมลดลงในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ประสบอุปสรรคในการผลักดันวาระต่าง ๆ ผ่านรัฐสภาที่ครอบครองโดยพรรคฝ่ายค้าน นับตั้งแต่ขึ้นบริหารประเทศเมื่อปี 2022 ขณะที่พรรคพลังประชาชนของเขา ประสบความติดขัดในการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณสำหรับปีหน้า

ขณะเดียวกัน ตัวประธานาธิบดีผู้นี้ เองได้ออกมาปฏิเสธเสียงเรียกร้องให้มีการสืบสวนอิสระต่อข่าวอื้อฉาวที่พัวพันกับสตรีหมายเลขหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ จนก่อให้เกิดการวิจารณ์อย่างรุนแรงจากคู่แข่งทางการเมืองของเขา

  • ที่มา: วีโอเอ