ที่ห้องปฏิบัติงานในโรงเรียนมัธยมการช่างไฟฟ้า Sudo ในเกาหลีใต้ กลุ่มนักเรียนกำลังช่วยกันเชื่อมเหล็ก บางคนกำลังใช้ค้อนทุบแผ่นเหล็ก โรงเรียนมัธยมการช่างไฟฟ้าแห่งนี้มีนักเรียนทั้งหมด 600 คน มีการเรียนการสอนต่างจากโรงเรียนมัธยมทั่วไปในเกาหลีใต้และเมื่อเรียนจบแล้วนักเรียนเหล่านี้ไม่มุ่งเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย
คุณครู Geum Donghoe ประจำแผนกไอทีของโรงเรียนกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่านักเรียนได้เรียนวิชาต่างๆรวมทั้งหลักสูตรวิศวกรรมการไฟฟ้า ซึ่งเทียบได้กับสาขาวิชาที่สอนในมหาวิทยาลัย
โรงเรียนเน้นสอนทักษะเชิงปฏิบัติที่จำเป็นในหลักสูตรไอทีหรือในสาขาการช่างเทคนิค เมื่อนักเรียนเรียนจบหลักสูตรแล้วสามารถหางานทำได้ตามสาขาความรู้การช่างที่เรียนมาจากระดับมัธยมปลายนี้ได้ทันที
ประธานาธิบดี ลี มยอง บัค แห่งเกาหลีใต้เป็นประธานาเปิดโรงเรียนเพาะช่างไฟฟ้า Sudo เมื่อปีที่แล้ว บอกว่า นักเรียนจะได้รับการศึกษาด้านไอเทคที่ช่วยให้แข่งขันได้ทั่วโลก โรงเรียนแห่งนี้เป็นหนึ่งในโรงเรียนมัธยมปลาย 21 โรงทั่วเกาหลีใต้ที่เรียกว่า Meister Schools ได้แบบอย่างหลักสูตรจากเยอรมันนีและทางการเกาหลีใต้เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแก่โครงการทั้งหมด
ทางการเกาหลีใต้เชื่อว่าการผลิตบุคลากรด้านการช่างและวิศกรรมไอเทคด้านต่างๆช่วยลดปัญหาคนตกงาน บัณฑิตมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ที่เรียนจบเมื่อปีที่แล้ว ครึ่งหนึ่งหางานเต็มเวลาทำไม่ได้เพราะมีผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามากกว่าจำนวนงานที่เหมาะสมในตลาดแรงงาน ต้องไปแย่งตำแหน่งงานสำหรับผู้จบมัธยมหรือระดับประกาศนียบัตร
ด้วยความร่วมมือของทางการและภาคอุตสหากรรม นักเรียนในโรงเรียนสารพัดช่างพิเศษเหล่านี้มีงานรออยู่แล้วเพื่อเป็นแรงดึงดูุดใจให้นักเรียนสมัครเข้าเรียน
คุณเจสเปอร์ คิม อาจารย์ทุนวิจัยที่มหาวิทยาลัย Harvard ผู้สอนวิชาการศึกษาเปรียบเทียบตะวันออกกับตะวันตก บอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าครอบครัวชาวเกาหลีมีค่านิยมส่งลูกหลานให้เรียนต่อสูงๆเพราะเห็นว่าช่วยส่งเสริมสถานะทางการเงินและสังคม ค่านิยมนี้เป็นผลพวงจากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจหลังสงคราม แม้จะช่วยดึงเกาหลีใต้ให้หลุดพ้นจากความยากจนในช่วงศตวรรษที่ยี่สิบแต่ก็ไม่เหมาะัสภาพตลาดแรงงานในปัจจุบัน
คุณเจสเปอร์ คิม บอกว่านี่ทำให้มีผู้มีการศึกษาสูงเกินไปต่อความต้องการของตลาดงาน ทุกคนต่างอยากทำงานในบริษัทใหญ่ๆไม่กี่บริษัทอย่าง LG หรือ Samsungs เป็นต้นซึ่งก็รับคนจำนวนจำกัดและเลือกจ้างผู้จบจากมหาวิทยาลัยเด่นๆไม่กี่แห่งเท่านั้น
นักเรียนที่ต้องการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยมีชื่อของประเทศต้องทำคะแนนตอนสอบเข้าหรือentrance exam ให้ได้สูงๆ เกาหลีมีมหาวิทยาลัย 196 แห่งแต่พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำสี่แห่งเท่านั้น
คุณเจสเปอร์ คิม นักวิชาการชาวเกาหลีบอกว่าการเน้นคะแนนสอบเข้าสูงๆทำให้คุณภาพการสอนในระดับประถมและมัธยมเกาหลีต่ำเพราะครูเน้นสอนเด็กๆใ้ห้ทำข้อสอบให้ได้คะแนนดี ไม่ได้เน้นที่ความก้าวหน้าในการเรียนของเด็ก เขาบอกว่าการแก้ปัญหาระบบนี้ทำได้ยาก แต่ทางการเดินมาถูกทางแล้วที่สร้างทางเลือกให้นักเรียนด้วยการเปิดโรงเรียนวิชาชีพการช่างแม้ว่าการตัดสินใจเลือกเดินทางไหนยังเป็นเรื่องยากอยู่สำหรับเด็กวัยรุ่น