เกาหลีใต้อนุมัติวัคซีนโควิดของ 'แอสตราเซเนกา' ท่ามกลางข้อกังขา

Nurses take part in the coronavirus disease (COVID-19) vaccination mock drill at a first aid facility of the COVID-19 vaccination center in Seoul, South Korea, Feb. 9, 2021. (Reuters/Kim Hong-Ji/Pool)

เมื่อวันพุธ เกาหลีใต้อนุมัติวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ร่วมพัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ให้ผู้ใหญ่ทุกคนสามารถรับวัคซีนนี้ได้ แม้จะมีข้อกังวลว่า ยังไม่มีข้อมูลของประสิทธิผลวัคซีนตัวนี้ต่อผู้สูงอายุอย่างเพียงพอก็ตาม

กระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยาของเกาหลีใต้อนุมัติให้ใช้วัคซีนนี้ได้เป็นการฉุกเฉิน โดยมีเงื่อนไขว่าทางผู้ผลิตวัคซีนต้องให้ข้อมูลการทดลองวัคซีนในระยะสุดท้ายกับผู้มีอายุมากกว่า 18 ปี โดยทางกระทรวงยังได้ออกคำเตือนถึงการฉีดวัคซีนให้ชาวเกาหลีใต้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีด้วย

ทั้งนี้ ทางการเกาหลีใต้จะเริ่มฉีดวัคซีนโควิดของแอสตราเซเนกาให้แก่ประชาชนในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้

A member of the medical staff administers the Oxford-AstraZeneca COVID-19 vaccine to a colleague at the Foch hospital in Suresnes, near Paris, France, Feb. 8, 2021.

หลายประเทศจำกัดการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาแก่ประชาชน

เวลานี้ประเทศยุโรปหลายประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส จำกัดการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาให้แก่ประชาชนอายุ 18 – 64 ปีเท่านั้น เนื่องจากยังมีข้อมูลของวัคซีนต่อผู้สูงอายุไม่เพียงพอ

และเมื่อวันอาทิตย์ แอฟริกาใต้ระงับโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนชั่วคราว หลังผลการศึกษาชิ้นใหม่โดยมหาวิทยาลัยวิตวอเทอร์สแรนด์ในนครโจฮันเนสเบิร์ก ระบุว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิผลน้อยกว่าในการต้านทานเชื้อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ที่พบในประเทศ

ผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า วัคซีนชนิดนี้สร้าง “ภูมิคุ้มกันแบบจำกัด” ต่อผู้คนในวัยหนุ่มสาวที่เป็นโรคโควิด-19 ในระยะปานกลาง ที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกาใต้ได้ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้ยังไม่ได้รับการทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้เป็นผู้ทำวิจัยการศึกษาดังกล่าว

เมื่อวันพุธ Zweli Mkhize รัฐมนตรีสาธารณสุขแอฟริกาใต้ ระบุว่า แอฟริกาใต้จะเริ่มฉีดวัคซีนของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ทำงานด่านหน้า โดยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาผลของวัคซีนดังกล่าวที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้รับวัคซีนได้โดยการฉีดวัคซีนเพียงโดสเดียว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีประเทศใดที่อนุมัติวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อย่างเป็นทางการ แต่ทางบริษัทก็กล่าวว่า ผลการศึกษาวัคซีนระยะสุดท้ายระบุว่า วัคซีนมีประสิทธิผล 85 เปอร์เซ็นต์ ในการป้องกันโรคโควิด-19 ในระยะร้ายแรง รวมถึงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันจากเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้ได้ด้วย

ในขณะเดียวกัน สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ก็อนุมัติให้ใช้ยารักษาโรคโควิด-19 ตัวใหม่ของบริษัทเวชภัณฑ์ อีไล ลิลลี (Eli Lilly) โดยยาดังกล่าวจะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และมีความเสี่ยงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสูง

ยาดังกล่าวมีส่วนผสมของสารภูมิต้านทานโมโนโคลน ซึ่งเป็นสารภูมิต้านทานที่พัฒนาในห้องปฏิบัติการแบบพิเศษเพื่อต่อสู้กับไวรัสโดยเฉพาะ