Your browser doesn’t support HTML5
การตั้งเขตเเสดงตนเพื่อการป้องกันทางอากาศหรือ ADIZ ของจีน มีขึ้นหลังจากจีนได้ออกมาตรการต่างๆ หลายขั้นในการควบคุมการเดินทางของเรือต่างประเทศในน่านน้ำทะเลจีนใต้
ถือเป็นการเน้นความตั้งใจเดิมของจีนที่ยึดถือกรรมสิทธิ์ในน่านน้ำที่กว้างใหญ่แห่งนี้ แม้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ตัดสินไปแล้วเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาว่า จีนไม่มีกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำในทะเลนี้ตามที่กล่าวอ้าง
จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ 95 เปอร์เซ็นต์ของทะเลจีนใต้ และการวางกำลังทหารบนหมู่เกาะเล็กๆในทะเลจีนใต้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 ได้สร้างความโกรธเคืองแก่หลายประเทศตั้งเเต่ทางการในกรุงจาการ์ต้าไปจนถึงทางการในกรุงวอชิงตัน
และมีรายงานว่า ทางการจีนพิจารณามาตรการตั้งเขต ADIZ นี้ตั้งเเต่เดือนกรกรกฏาคมที่ผ่านมาหลังจากคำตัดสินของศาล
Euan Graham ผู้อำนวยการด้านความมั่นคงระหว่างประเทศเเห่ง Lowy Institute for International Policy ในนครซิดนีย์ กล่าวว่า หากจีนตัดสินใจเดินหน้าในเรื่องนี้ ก็เป็นไปได้มากขึ้นที่จีนจะใช้ยุทธวิธีปิดน่านน้ำเพื่อการฝึกรบเป็นช่วงๆ และอาจจะค่อยๆ ขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์และระยะเวลาออกไป เเทนที่จะบังคับใช้มาตรการเขตเเสดงตนเพื่อการป้องกันทางอากาศอย่างเต็มตัว
ทางด้านสถาบันเพื่อการศึกษาทะเลจีนใต้แห่งชาติจีน หน่วยงาน think tank ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีน ชี้ว่า เนื่องจากเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้ทำการลาดตระเวณทางทะเลในพื้นที่ขัดเเย้งราว 700 ครั้ง ทางการจีนพร้อมเเล้วที่จะตั้งเขตเเสดงตนเพื่อการป้องกันตนทางอากาศนี้ หากทางการสหรัฐฯยังไม่ยุติปฏิบัติการลาดตระเวณดังกล่าว
Carl Thayer ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย New South Wales ในออสเตรเลีย กล่าวว่าจีนสามารถสร้างเขต ADIZ ขึ้นได้ด้วยการใช้เรดาร์ หากจีนสร้างเกาะเทียมขึ้นบนสันดอน สคาร์โบโร โชล (Scarborough Shoal) ซึ่งเป็นเเนวปะการังที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทางตะวันตกของฟิลิปปินส์
เขากล่าวว่าการตั้งเรดาร์บนเกาะเทียมเเห่งนี้จะสร้างมุมที่สามให้แก่จึนบนเขตรูปทรงสามเหลี่ยม ที่เชื่อมระหว่างหมู่เกาะพาราเซลส์ (Paracels) กับเกาะสเเปรตลี่ย์ส (Spratlys)
จีนยังได้ตั้งกฏระเบียบออกมาบังคับใช้หลายอย่าง และวางกองเรือในพื้นที่เพื่อตรวจสอบเรือจากต่างประเทศ โดยมีคำสั่งใหม่ออกมาในเดือนกรกฏาคมปีนี้ นักวิเคราะห์คาดกันว่ามาตรการเหล่านี้น่าจะมีผลกระทบเล็กน้อยเท่านั้นแก่การสัญจรทางน้ำจริงๆ ในพื้นที่
สื่อทางการจีนรายงานเมื่อปลายปี 2014 ว่าเรือสำรวจและเรือประมงต่างประเทศทุกลำ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ทางการจีนระดับภูมิภาค ก่อนที่จะเข้าไปทำการประมงหรือทำการสำรวจใดๆ
คำสั่งโดยทางการจีนในมณฑลไหหลำทางใต้ของจีน มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมปี 2015 และครอบคลุมพื้นที่ 2 ใน 3 ของทะเลจีนใต้ทั้งหมด
เรือลำเลียงสินค้าของทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์ยังคงเดินทางผ่านเส้นทางในน่านน้ำนี้อยู่เหมือนเดิม ราวครึ่งหนึ่งของเรือขนส่งสินค้าทั้งหมดทั่วโลกยังคงใช้เส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้ต่อไป และคำสั่งของทางการจีนไม่มีผลกระทบต่อการเดินเรือในบริเวณนี้เเต่อย่างใด
แต่ในปีนี้ สำนักงานความปลอดภัยทางการเดินเรือแห่งชาติจีนได้ออกคำสั่งใหม่ โดยสั่งห้ามเรือจากต่างประเทศไม่ให้เข้าไปในพื้นที่น่านน้ำ 63,000 ตารางกิโลเมตร ใกล้กับเวียดนามกับเกาะพาราเซลส์ เป็นเวลาร่วม 60 วัน เพราะกองทัพเรือจีนจะใช้พื้นที่ในการฝึกรบทางทะเล แต่กองทัพสหรัฐฯ ประกาศว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำประกาศห้ามเดินเรือในพื้นที่ของทางการจีนนี้
แต่อาจารย์ Thayer ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ในออสเตรเลีย กล่าวว่า เพื่อเลี่ยงปฏิกิริยาทางลบจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ จีนจะต้องไม่ห้ามการเดินเรือขนส่งสินค้าผ่านน่านน้ำนี้ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เอเชียตะวันออก
อาจารย์ Thayer กล่าวว่าตนไม่คิดว่าชาติใดๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเชื่อว่าจีนจะเเทรกเเซงการเดินเรือเพื่อการค้า เพราะมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน หากจีนออกมากีดขวางการเดินเรือเพื่อการค้า ก็จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างเเน่นอน
หนังสือพิมพ์ Global Times ของทางการจีนในกรุงปักกิ่ง รายงานว่าในปีนี้ จีนยังได้สร้างเรือลาดตระเวณแนวชายฝั่งขนาด 10,000 ตันลำที่สอง เพื่อพิทักษ์สิทธิ์ทางน่านน้ำของจีน
Andrew Yang เลขาธิการ Chinese Council of Advanced Policy Studies ในไต้หวันกล่าวว่า จีนอาจจะต้องการให้กฏระเบียบต่างๆ ที่ตนตั้งขึ้น ตลอดจนเรือลาดตระเวณและระบบขั้นพื้นฐานพร้อมใช้งานระยะยาวในบางสถานการณ์เท่านั้น แทนที่จะใช้ในการสกัดกั้นเรือทุกลำ
Yang กล่าวว่าตนคิดว่าทางการจีนจะไม่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างก้าวร้าว การก่อสร้างระบบพื้นฐานในบริเวณรอบๆ หมู่เกาะพาราเซลส์ และหมู่เกาะอื่นๆ ในทะเลจีนใต้ เสร็จเรียบร้อยเเล้ว เขาคิดว่าทางการจีนกำลังรอดูสถานการณ์ต่อไป
(รายงานโดย Ralph Jennings / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)