ชีวิตของสิงโตในแอฟริกาใต้บางส่วน ถูกเพาะพันธุ์และเลี้ยงดูเพื่อนำมาใช้เป็น “เหยื่อ” ตอบสนอง “กิจกรรมนักล่า” ผู้ที่สนใจจะจ่ายเงินหลายพันดอลลาร์ เพื่อคร่าชีวิตของพวกมันด้วยกระสุนปืน โดยสิงโตเหล่านี้จะไม่มีทางหนีเอาตัวรอดได้
ควาซิกเวนโคซี่ นยาธี จากองค์กรพิทักษ์สัตว์ ไลออนส์ร็อค บิ๊ก แคท แซงชัวรี (LIONSROCK Big Cat Sanctuary) ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอว่า “สิงโตถูกเลี้ยง พวกมันใช้ชีวิตตามปกติ โดยไม่รู้ว่าในวันนั้นจะต้องถูกฆ่า พวกเขาจะใช้เนื้อเป็นเหยื่อล่อสิงโตเข้ามาใกล้ จากนั้นจะหยิบปืนออกมายิง แล้วก็โพสท่าถ่ายรูป (ร่วมกับซากสิงโต) เพื่อเอาไปโชว์บนโซเชียลมีเดีย”
เหล่าสิงโตที่อยู่ในพื้นที่พิทักษ์สัตว์ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มที่โชคดี โดยพวกมันถูกย้ายออกมาจากศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์ ที่ ๆ จะได้รับอาหารและถูกเลี้ยงดูอย่างดี
ข้อมูลของภาครัฐชี้ว่า แอฟริกาใต้มีประชากรสิงโตที่ถูกเพาะพันธุ์มากที่สุดในโลก ที่ประมาณ 8,000 ตัว แต่ข้อมูลจากองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ระบุว่า ตัวเลขที่แท้จริงมากกว่านั้นและสูงกว่าเกือบ 3 เท่าของจำนวนสิงโตที่พบได้ตามธรรมชาติ
ฟิโอน่า ไมล์ ผู้อำนวยการ LIONSROCK และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสวัสดิภาพสัตว์ โฟร์ พอวส์ เซาธ์ แอฟริกา (Four Paws South Africa) มองว่า อุตสาหกรรมเพาะพันธุ์สิงโต เป็น “วงจรที่เลวร้าย”
เธออธิบายว่า “เหล่าสิงโตถูกเพาะพันธุ์อย่างจริงจังราวกับเป็นโรงงาน สิงโตตัวเมียถูกบังคับให้ผสมพันธุ์ หลังคลอดออกมา ลูกสิงโตจะถูกพรากไปอย่างรวดเร็ว แขกที่จ่ายเงินมาเยี่ยมชมก็จะได้เล่นโต้ตอบกับลูกสิงโตเหล่านี้”
สิงโตจากการเพาะพันธุ์จะถูกนำไปใช้สำหรับการล่าสัตว์ป่าในพื้นที่จำกัด ซึ่งสิงโตจะไม่สามารถหลบหนีได้ นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “กระดูกสิงโต” โดยอ้างว่า มีสรรพคุณตามความเชื่อของแพทย์แผนจีน แม้ว่าแอฟริกาใต้ไม่ได้อนุญาตให้มีการส่งออกซากกระดูกสิงโตมาตั้งแต่ปี 2019 แล้วก็ตาม
ในปี 2015 สารคดีเรื่อง บลัด ไลออนส์ (Blood Lions) เผยถึงด้านมืด ทั้งสภาพการเลี้ยงดูที่ย่ำแย่ และสถานที่สุดแสนจะสกปรก จนนานาชาติประณามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งยังทำให้รัฐบาลแอฟริกาใต้ต้องทำการสอบสวนเพื่อยุติอุตสาหกรรมดังกล่าวและจัดตั้งคณะทำงานรัฐมนตรีดูแลประเด็นนี้
เมื่อเดือนมีนาคม คณะรัฐมนตรีแอฟริกาใต้ได้ประกาศยุติการเพาะพันธุ์สิงโต ภายใต้กรอบปฏิบัติเป็นเวลาราวสองปี โดยจะให้ผู้เพาะพันธุ์สิงโตในศูนย์จำนวน 342 แห่งทั่วประเทศยุติการกระทำโดยความสมัครใจและจะมีการออกกฎบังคับใช้ชั่วคราวในระหว่างนี้
ในการนี้ ผู้เพาะพันธุ์ต้องเริ่มทำหมันให้กับสิงโต และเดินหน้าลดจำนวนสิงโตด้วยการนำไปเป็นเหยื่อในการถูกล่าหรือกระทำการุณยฆาต ส่วนซากกระดูกสิงโตนั้นจะต้องถูกนำไปเผาทิ้งป้องกันการลักลอบส่งออกไปยังต่างประเทศ
เมื่อสิ้นสุดกรอบเวลาสองปี หลังจากอนุญาตให้กลุ่มผู้เพาะพันธุ์ยุติการกระทำโดยความสมัครใจ สิงโตที่เหลืออยู่จะถูกย้ายไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งพวกมันสามารถมีชีวิตใหม่และก้าวออกมาจากวงจรที่ไร้มนุษยธรรม
- ที่มา: วีโอเอ