การเปิดโปงชื่อผู้ให้ข่าวลับแก่ทางการทหารสหรัฐทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของคนเหล่านั้น

  • แกรี่ โธมัส
    นิตยา มาพึ่งพงศ์

การเปิดโปงชื่อผู้ให้ข่าวลับแก่ทางการทหารสหรัฐทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของคนเหล่านั้น

เรื่องการเปิดเผยเอกสารลับมากกว่าเก้าหมื่นชิ้นของรัฐบาลสหรัฐที่เกี่ยวกับการทำสงครามในแอฟกานิสถาน ก่อให้เกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวแอฟกานิสถานที่เป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ทางการทหารสหรัฐ

เรื่องการเปิดเผยเอกสารลับมากกว่าเก้าหมื่นชิ้นของรัฐบาลสหรัฐที่เกี่ยวกับการทำสงครามในแอฟกานิสถาน ก่อให้เกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวแอฟกานิสถานที่เป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ทางการทหารสหรัฐ

รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐ นาย Robert Gates กล่าวในรายการโทรทัศน์ของข่ายงานโทรทัศน์ ABC ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การเปิดเผยเอกสารเหล่านี้ ทำให้ชาวแอฟกานิสถานที่เป็นผู้ให้ข่าวแก่ทางการทหารสหรัฐ ตกอยู่ในอันตราย รวมทั้งทหารที่ได้รับความช่วยเหลือจากคนเหล่านี้

รมต. กระทรวงกลาโหมสหรัฐกล่าวว่า พวก Taliban สามารถเรียนรู้ได้มาก เกี่ยวกับเทคนิค กลยุทธ์ และระเบียบปฎิบัติจากเอกสารที่ถูกเปิดเผย และว่าในวงการข่าวกรองนั้น การปกป้องแหล่งข่าวเป็นเรื่องที่จะละเมิดไม่ได้เป็นอันขาด

ผู้ที่ทำงานทางด้านข่าวกรองเป็นอาชีพบางคน ตั้งคำถามว่า ทำไมจึงไม่มีการปกป้องคุ้มครองแหล่งข่าวให้ดีกว่านี้ ซึ่งอาจทำได้โดยการขีดฆ่าชื่อผู้ให้ข่าวออก ก่อนที่จะเผยแพร่แบ่งปันข้อมูลที่ได้มาให้กับหน่วยงานต่างๆของกระทรวงกลาโหมที่ต้องวิเคราะห์ หรือนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้

เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมผู้หนึ่งซึ่งขอสงวนนาม ให้คำตอบไว้ว่า ไม่มีการปกป้องกลั่นกรองข่าวกรองที่ได้มาจากสนามรบ หรือที่ถือว่าเป็นข่าวกรองทางกลยุทธ์ในท้องที่ เท่ากับข่าวกรองที่เก็บมาอย่างเป็นทางการ

แต่นาย Michael Hayden อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ หรือ CIA กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการปกป้องคุ้มครองผู้ให้ข่าวกับความน่าเชื่อถือของข่าว เป็นเรื่องที่นักวิเคราะห์ต้องหาความสมดุล เพื่อที่จะประเมินค่าของข่าวนั้นให้ได้อย่างถูกต้อง

อดีตผู้อำนวยการ CIA ให้ความเห็นว่า นักวิเคราะห์มักจะต้องรู้ว่า ใครเป็นผู้ให้ข่าว เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าข่าวที่เขากำลังพิจารณาอยู่นั้น มีความเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นปัญหาทีเดียวว่า จะให้ข้อมูลนักวิเคราะห์มากแค่ไหนจึงจะเพียงพอสำหรับงานที่เขาต้องทำ โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ให้ข่าวในกรณีที่เกิดการรั่วไหลขึ้นมา

แต่นาย Scott Stewart หัวหน้าหน่วยข่าวกรองทางด้านยุทธวิธีของบริษัท Stratfor ซึ่งเป็นธุรกิจเอกชน บอกว่า ไม่มีใครประหลาดใจที่มีการระบุชื่อผู้คนไว้มากมายในเอกสารที่รั่วไหลออกมา

ผู้มีอาชีพในงานข่าวกรองของธุรกิจเอกชนผู้นี้กล่าวว่า แน่นอนที่สุดว่า ถ้าขีดฆ่าชื่อออกไปเสียก่อน ก็จะเป็นการดีที่สุดกับทุกฝ่าย แต่เท่าที่เขาได้เห็น เอกสารส่วนใหญ่ที่เปิดโปงออกมาก็เป็นการพบปะกับผู้คนที่ทหารสหรัฐจะต้องได้พบอยู่แล้ว เช่นเจ้าหน้าที่รัฐบาล และหัวหน้าหมู่บ้านทำนองนั้น

อย่างไรก็ตาม พวก Taliban กล่าวว่า กำลังศึกษาเอกสารที่ปรากฎใน WikiLeaks เพื่อระบุตัวและตามล่าผู้ให้ข่าวช่วยเหลือทางการทหารสหรัฐ