นัยยะของเสือขาว “ซูโฮรัง” มาสก็อตสุดน่ารักแห่งโอลิมปิกฤดูหนาว 2018

25일 강릉 올림픽 선추촌에 2018 평창올림픽 마스코트인 수호랑 동상이 서 있다.

Your browser doesn’t support HTML5

นัยยะของเสือขาว “ซูโฮรัง” มาสก็อตสุดน่ารักแห่งโอลิมปิกฤดูหนาว 2018

เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่เมืองพย็องชาง เกาหลีใต้ ซึ่งมีหลากหลายประเด็นที่ถูกจับตาตั้งแต่ก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มาสก็อตประจำการแข่งขันโอลิมปิก นั่นคือ เสือขาว “ซูโฮรัง” ที่นอกจากมาพร้อมกับความน่ารักน่าเอ็นดูแล้ว ยังสอดแทรกด้วยนัยยะที่น่าสนใจของเกาหลีใต้เอาไว้ด้วย

เสือขาว “ซูโฮรัง” ถูกคัดสรรให้เป็นมาสก็อต หรือ ตัวนำโชค ประจำการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวประจำปีนี้ โดยเสือตามตำนานเก่าแก่ตั้งแต่สมัยโชซอนของเกาหลี คือ สัญลักษณ์ของผู้คุ้มครองปกป้องจากภัยอันตราย และยังสื่อถึงความซื่อสัตย์และความแข็งแกร่ง ขณะที่ชื่อของซูโฮรัง ในภาษาเกาหลี มาจากคำว่า “ซูโฮ” หมายถึง การปกป้อง และ “รัง” ที่แปลว่า เสือ ในภาษาเกาหลี

ในรายงานของนิตยสารไทม์ เปิดเผยว่า เมื่อรวมทั้งชื่อและตัวมาสก็อตของโอลิมปิกฤดูหนาวปีนี้เข้าด้วยกัน จะสื่อถึงการปกป้องคุ้มครองทัพนักกีฬา ผู้ชม และผู้ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ทุกคน ในฐานะเจ้าภาพ

ด้านนัยยะของเสือในศตวรรษที่ 20 นั้น คือ การสร้างความภูมิใจในความเป็นเกาหลี และปลูกฝังค่านิยมความเป็นเกาหลีในหัวใจของคนรุ่นใหม่ โดยนักประวัติศาสตร์ Joseph Seeley อ้างอิงข้อมูลประวัติศาสตร์เมื่อปี 2451 ที่เกาหลีตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของญี่ปุ่น ที่ระบุว่า ชาวเกาหลีเปรียบเทียบแผนที่ของคาบสมุทรเกาหลีเหมือนกับรูปของเสือ ที่เกรี้ยวกราดและแข็งแกร่งกว่าสัตว์ชนิดใดๆบนโลก

ขณะที่ในแง่เศรษฐกิจ เสือเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ ความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง และทันสมัยของเศรษฐกิจเกาหลีใต้นั่นเอง

ความนิยมในตัวเสือของเกาหลีใต้มีอย่างเข้มข้น โดยก่อนหน้านี้ มาสก็อตประจำโอลิมปิก ที่กรุงโซล เมื่อปี 2531 คือเจ้า “โฮโดริ” ซึ่งเป็นเสือสีส้ม แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่ามีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายกับ เจ้าเสือโทนี ที่เป็นสัญลักษณ์ของอาหารเช้าชื่อดังของสหรัฐฯ และเกือบจะทำให้มาสก็อตตัวนี้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ฐานละเมิดลิขสิทธิ์มาแล้ว

เสือสีส้ม Hodori มาสก็อตประจำการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อปี 2531

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเสือคือสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจของชาวเกาหลี แต่ปัจจุบัน กลับไม่พบรายงานการพบเห็นเสือตัวเป็นๆในเกาหลีใต้แต่อย่างใด มีเพียงบันทึกการพบเห็นล่าสุด คือ ที่เมืองกย็องจู เมื่อปี 2464 โดยปัญหาสำคัญ คือ การล่าเสือเพื่อส่งออกกระดูกไปใช้ในทางการแพทย์ทางเลือก เมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ทำให้ในปี 2536 รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องออกกฎหมายห้ามล่าสัตว์นับแต่นั้น ซึ่งความหวังเดียว คือ การขอความร่วมมือจากเกาหลีเหนือ ในการค้นหาเสือที่เหลืออยู่บนคาบสมุทรเกาหลี

นอกจากเสือขาว “ซูโฮรัง” แล้ว ยังมีอีกมาสก็อตสำหรับพาราลิมปิกฤดูหนาว เป็นหมีควายที่มีชื่อว่า “บันดาบิ” ซึ่งเชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากคาบสมุทรเกาหลี โดยหมีควายสำหรับชาวเกาหลีแล้ว สื่อถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้าและความกล้าหาญ

ที่ผ่านมา คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจะเฟ้นหามาสก็อต สัญลักษณ์ประจำการแข่งขันในแต่ละครั้ง ซึ่งจะต้องเป็นสัตว์ที่สื่อถึงวัฒนธรรมของประเทศเจ้าภาพการแข่งขันด้วย

มาสก็อตประจำโอลิมปิก 2016 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร

ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนและพาราลิมปิก ที่นครริโอ เดอ จาเนโร เมื่อปี 2559 มีมาสก็อต วินิเชียสและทอม ซึ่งตั้งชื่อตามศิลปินชื่อดังผู้ล่วงลับของบราซิล วินิเซียส เดอ โมราเอส และทอม โจบิม นักดนตรีชื่อดังของบราซิล แต่ความพิเศษ คือ การผสมผสานสัตว์และพืชนานาชนิดของประเทศจนกลายมาเป็น 2 มาสก็อตแดนแซมบ้า ขณะที่โอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อ 4 ปีก่อน ที่เมืองโซชิ ของรัสเซีย มีมาสก็อต 3 ตัว ได้แก่ หมีขาว กระต่าย และเสือดาวหิมะ ที่เรียกรวมกันว่า โซริส

มาสก็อตประจำโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ที่เมือง Sochi

สำหรับมาสก็อตประจำการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในอีก 2 ปีข้างหน้า รวมทั้งการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวอีก 4 ปีข้างหน้า ที่มณฑลเหอเป่ย ของจีนนั้น ยังอยู่ระหว่างการเฟ้นหามาสก็อตสำหรับการแข่งขันกันอยู่ โดยจะประกาศผลในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 สำหรับโอลิมปิกฤดูร้อน และในปี 2563 สำหรับมาสก็อตโอลิมปิกฤดูหนาวคราวหน้า