เศรษฐกิจอเมริกาโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือภาครัฐบาล ภาคธุรกิจเอกชน และภาคองค์กรการกุศลไม่แสวงหาผลกำไร แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เริ่มมีการพูดถึงส่วนที่ 4 ซึ่งอยู่ระหว่างภาคธุรกิจเอกชนกับภาคองค์กรการกุศล เรียกว่าภาคธุรกิจเพื่อประโยชน์สังคม ซึ่งหมายความถึงองค์กรธุรกิจที่หาผลกำไรและให้ประโยชน์แก่สังคมไปพร้อมๆ กัน
คุณ William Paddock ที่ปรึกษาด้านธุรกิจแบบยั่งยืนหรือธุรกิจสีเขียว กล่าวว่าการทำธุรกิจเพื่อสังคมนั้นคือการปกป้องสิ่งแวดล้อม สร้างสิ่งดีดีแก่ชุมชนและสร้างผลกำไรและประหยัดต้นทุนไปพร้อมๆกัน หลายบริษัทจ้างคุณ Paddock ไปสอนพนักงานเรื่องการรีไซเคิ่ล การประหยัดพลังงานและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อปีที่แล้วคุณ Paddock จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัย Lipscomb ซึ่งเน้นเรื่องการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เขาบอกว่าวิชาที่เรียนนี้ช่วยให้เขาสามารถสื่อสารหรืออธิบายความสำคัญของการทำธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ลูกค้าฟังได้กระจ่างยิ่งขึ้น
เวลานี้มหาวิทยาลัยมากกว่า 60 แห่งในสหรัฐกำลังเปิดสอนสาขาวิชาบริหารธุรกิจเพื่อสังคมหรือธุรกิจสีเขียวเพื่อให้นักศึกษาจบไปประกอบธุรกิจเพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคม โดยอาจให้มีการฝึกงานกับองค์กรการกุศลในท้องถิ่นก่อนจบการศึกษา
คุณ Bernard Turner ผู้อำนวยการศูนย์ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม Social Entrepreneurship ที่มหาวิทยาลัย Belmont ในรัฐ Tennessee กล่าวว่ามหาวิทยาลัยในอเมริกาค่อนข้างช้าในเรื่องนี้เมื่อเทียบกับประเทศอื่น และการที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งตัดสินใจเปิดสอนสาขาวิชานี้ส่วนใหญ่เป็นเพราะความต้องการของนักศึกษาเอง เพราะมีนักศึกษาจำนวนมากต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจและมีแรงจูงใจอยากทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมบ้าง จึงอาจกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยเปิดสาขาด้านนี้เพื่อสนองความต้องการของเด็กนักศึกษารุ่นใหม่เหล่านั้นโดยตรง
Andrew Bishop หนึ่งในนักศึกษาของโครงการผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัย Belmont เริ่มก่อตั้งองค์กรการกุศลของตนเองมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม และไม่นานนี้เขาได้ก่อตั้งองค์กรการกุศลแห่งที่สองซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้บรรดาคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีโอกาสสอนผู้คนในชุมชน เขาบอกว่าโลกยุคใหม่คือความท้าทายสำหรับเยาวชนที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความคิดว่าอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม และจะแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นประกอบกับการทำงานในอาชีพที่ตนเลือกได้อย่างไร
ความต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆกับการดำรงชีวิตนี้ คือสิ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่อย่าง Andrew Bishop เชื่อว่ามหาวิทยาลัยต่างๆในอเมริกาควรขยายสาขาวิชาที่เน้นประโยชน์ทางสังคมเป็นหัวใจในการศึกษามากยิ่งขึ้น
นักศึกษาอเมริกันผู้นี้เชื่อว่า ผู้คนจำนวนมากต้องการพูดได้เต็มปากในเวลาที่เกษียณการทำงานไปแล้ว ว่าที่ผ่านมาตนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตคนบางคน สังคมบางสังคม ผ่านงานหรืออาชีพที่ทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และนั่นอาจถือเป็นความสำเร็จสูงสุดอย่างหนึ่งของชีวิตที่ไม่ได้คิดคำนวณจากมูลค่าของรายได้หรือผลกำไร