Your browser doesn’t support HTML5
หากเหตุผลทางสุขภาพไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคปอดเเละโรคหัวใจ ตลอดจนอาการเป็นหมันหรือลูกมีน้ำหนักน้อยตอนคลอดยังไม่พอที่จะทำให้ว่าที่คุณเเม่เลิกสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ ผลการศึกษาล่าสุดโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอให้คุณพยายามมากขึ้นในการเลิกสูบบุหรี่
ทีมนักวิจัยอเมริกันทีมนี้พบว่าสารนิโคตินในบุหรี่ที่ว่าที่คุณแม่ได้รับขณะตั้งครรภ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระยะยาวต่อพันธุกรรมของทารกในครรภ์ซึ่งเป็นผลกระทบที่บำบัดรักษายาก
ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในทารกในครรภ์เนื่องมาจากสารนิโคติน ช่วยอธิบายได้ว่าทำไมการสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์จึงส่งผลให้ลูกเกิดความบกพร่องทางพฤติกรรมหลายๆ อย่างรวมทั้งโรคสมาธิสั้นหรือ ADHD
ผลการศึกษาประชากรหลายชิ้นก่อนหน้านี้พบว่าดูเหมือนว่าการสูบบุหรี่ขณะตั้งท้องเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กกลายเป็นเด็กสมาธิสั้น แต่การศึกษาล่าสุดโดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเยลค้นพบหลักฐานทางชีววิทยาที่บ่งชี้ว่าเด็กมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดอาการบกพร่องทางพฤติกรรมแบบดังกล่าว
ศาสตราจารย์ Marina Picciotto แห่งภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเยลที่ New Haven รัฐ Connecticut หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวว่าสารนิโคตินส่งผลกระทบต่อระยะสำคัญของการพัฒนาด้านสมองในตัวอ่อนทารก
ทีมนักวิจัยทำการทดลองในหนูทดลองเพื่อดูว่าสารนิโคตินมีผลให้การพัฒนาทางสมองในหนูเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างไร ศาสตราจารย์ Marina Picciotto กล่าวว่าเมื่อทีมนักวิจัยให้หนูทดลองได้รับสารนิโคตินในช่วงที่ระยะการพัฒนาทางสมองเป็นช่วงเดียวกันกับสารนิโคตินมีผลกับสมองของตัวอ่อนทารกมนุษย์และทีมนักวิจัยพบการเปลี่ยนแปลงในสมองของหนูซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงถาวรที่เกิดกับเซลล์สมองในส่วน cortex
นอกเหนือไปจากนี้ ศาสตราจารย์ Marina Picciotto ยังบอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงในเซลล์สมองที่พบทำให้สมองของเด็กแตกต่างไปจากเดิม ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัยเยลคนนี้ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงในสมองของหนูทดลองส่งผลต่อพฤติกรรมของหนู โดยหนูเริ่มมีพฤติกรรมที่บ่งชี้ว่าเป็นอาการสมาธิสั้น ADHD เธอกล่าวว่าหนูปกติทั่วไปจะไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆ กับแรงช็อต แบบอ่อนๆ ที่เท้า แต่หนูทดลองที่ได้รับผลกระทบจากสารนิโคตินจะใส่ใจกับเเรงช็อตอ่อนๆ ดังกล่าวที่เท้าของมัน แสดงว่าหนูทดลองใส่ใจกับสิ่งกระตุ้นที่ปกติแล้วสมองของมันสามารถมองข้ามไปได้
ทีมนักวิจัยยังพยายามค้นหาด้วยว่าลักษณะการเปลี่ยนแปลงในเซลล์สมองแบบเดียวกันนี้เกี่ยวข้องกับความบกพร่องทางสมองที่เรียกว่า Asperger’s syndrome กับ autism หรือไม่ ซึ่งเป็นความบกพร่องที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อ สมาธิและความสามารถในการควบคุมตัวเองเเต่ศาสตราจารย์ Marina Picciotto กล่าวว่าทีมงานไม่พบหลักฐานยืนยันเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Marina Picciotto ชี้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าอาจจะค้นพบวิธีเเก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการหาทางบล็อคไม่ให้สารนิโคตินสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่เซลล์สมอง ซึ่งหากทำได้ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้สารนิโคตินเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเซลล์สมองและทำให้พฤติกรรมต่างไปจากเดิม
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ Picciotto ยังกล่าวด้วยว่าดูเหมือนว่าความบกพร่องด้านสมาธิเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมจึงเป็นไปได้ว่าคนที่มีความบกพร่องด้านสมาธิอาจเกิดจากความผิดปกติในสมองเเบบหนึ่งแบบใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับสารนิโคตินและข้อสงสัยนี้จะกลายเป็นหัวข้อของการศึกษาวิจัยครั้งต่อไปของทีมงาน
เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน