นักวิจัยชี้การสูบบุหรี่อาจเชื่อมโยงกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ส

โรคอัลไซเมอร์สคือรูปแบบหนึ่งของอาการความจำเสื่อมซึ่งมักจะเกิดกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคนที่อายุเกิน 70 ปีขึ้นไป อาการของโรคนอกจากจะเกิดอาการสูญเสียความทรงจำแล้วยังสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ปัจจุบันโรคอัลไซเมอร์สยังไม่มีทางรักษา

รายงานวิจัยชิ้นล่าสุดของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์ Houston ที่ University of Texas ชี้ว่าการสูบบุหรี่อาจมีผลกระทบต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์สของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว หรืออาจทำให้อาการของโรคอัลไซเมอร์สแย่ลง การศึกษาที่ว่านี้ทำกับหนูทดลอง แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าผลที่ได้สามารถนำมาปรับใช้กับมนุษย์ได้ โดยเฉพาะการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่

ศาสตราจารย์ Claudio Soto แห่งภาควิชาประสาทวิทยา University of Texas อธิบายว่าคณะนักวิจัยได้แยกหนูทดลองที่มีโรคอัลไซเมอร์สแบบเดียวกับมนุษย์เป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้สูดดมควันแบบเดียวกับที่ผู้สูบบุหรี่ปล่อยออกมาลักษณะเดียวกับ Second-hand Smoker ส่วนกลุ่มที่ 2 ปล่อยให้ได้รับควันบุหรี่โดยตรงในปริมาณเท่ากับคนสูบบุหรี่ 1-2 มวนต่อวัน แล้วนำผลการวิจัยที่ได้ไปเปรียบเทียบกับหนูทดลองที่ไม่ได้สูดดมควันบุหรี่เลย

ศาสตราจารย์ Claudio Soto เปิดเผยผลการวิจัยว่าหนูที่สูดดมควันบุหรี่มีสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์สระยะเริ่มต้น เห็นได้จากสมองบางส่วนเริ่มถูกทำลายและยังพบคราบแบคทีเรียในสองของหนูทดลองซึ่งมีลักษณะคล้ายกับที่พบในสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สด้วย

ศาสตราจารย์ Soto ชี้ว่าโรคอัลไซเมอร์สส่วนใหญ่ที่เกิดกับผู้สูงอายุนั้นมักจะเกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจาย หมายความว่าไม่มีปัจจัยเรื่องของพันธุกรรมมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นสิ่งที่พอจะบ่งบอกได้ว่าเป็นสาเหตุของโรคคือวัยที่เพิ่มขึ้นและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเช่นควันบุหรี่ ดังนั้นคำแนะนำของนักวิจัยเรื่องนี้ก็คือควรเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด ซึ่งเชื่อว่าน่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์สได้

งานวิจัยของศาสตราจารย์ Claudio Soto และเพื่อนร่วมงานที่วิทยาลัยการแพทย์ Houston University of Texas ชิ้นนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature Communications