แอพมือถือช่วยเฝ้าระวังอาการซึมเศร้าของผู้ใช้

In this Nov. 1, 2018 photo, Laurel Foster holds her phone in San Francisco. Foster is among teens involved in Stanford University research testing whether smartphones can be used to help detect depression and potential self-harm. (AP Photo/Haven Daley)

Your browser doesn’t support HTML5

Smartphones Depression Detection

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สัญญาณต่างๆ ที่เป็นตัวเตือนเกี่ยวกับสุขภาพจิตของวัยรุ่น ได้แก่การเปลี่ยนแปลงความเร็วของการเขียน คุณภาพเสียงเเละการเลือกใช้คำ ตลอดจนวัยรุ่นหยุดเรียนอยู่บ้านบ่อยเเค่ไหน

ด็อกเตอร์ ทอมมัส อินเซล (Dr. Thomas Insel) อดีตหัวหน้าของสถาบันสุขภาพจิตเเห่งชาติสหรัฐฯ (the National Institute of Mental Health) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทางสุขภาพจิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวว่า มีสัญญาณบ่งบอกสุขภาพจิตที่ได้จากการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนมากกว่า 1,000 แบบด้วยกัน

ด็อกเตอร์ อินเซล เป็นผู้นำคนหนึ่งในด้านการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพจิตจากการใช้สมาร์ทโฟน บรรดานักวิจัยกำลังทดสอบแอพโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการคาดเดาความซึมเศร้าเเละความเป็นไปได้ของการทำร้ายตนเอง

การใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องช่วยตรวจสุขภาพจิตจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใช้เสียก่อน เพื่อดาวน์โหลดแอพเเละสามารถยกเลิกคำอนุญาตนี้ได้ตลอดเวลา

นิค อัลเลน (Nick Allen) นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยโอเรกอน ได้คิดค้นแอพโทรศัพท์มือถือขึ้นมาตัวหนึ่ง ซึ่งกำลังใช้ทดสอบกับคนหนุ่มสาวที่คิดสั้นมาตลอด

การปลิดชีวิตตนเองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตหลักอันดับที่ 2 ในกลุ่มคนอายุระหว่าง 10 ถึง 34 ปีในสหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2015 อัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กชายวัยรุ่นในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14 คนต่อทุก 100,000 คน เเละ 5 คนต่อทุก 100,000 คนสำหรับเด็กผู้หญิง

ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดชี้ว่า การใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอาจทำให้ปัญหานี้เลวร้ายลงไปอีก

ด็อกเตอร์อินเซล กล่าวว่า คนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตมักได้รับการบำบัดเมื่อเข้าขั้นวิกฤติเเล้ว หรือเมื่อสายเกินไป จึงจำเป็นต้องมีวิิธีตรวจหาสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตได้ล่วงหน้าให้มากที่สุด

หากโทรศัพท์มือถือสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยบ่งบอกปัญหาทางสุขภาพจิตได้ล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ บรรดาผู้พัฒนาแอพ กล่าวว่าน่าจะมีการพัฒนาบริการส่งข้อความทางมือถืออัตโนมัติ เเละช่วยประสานความช่วยเหลือหรือส่งข้อความทางดิจิตัลไปถึงพ่อเเม่ แพทย์ เเละทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัย

การวิจัยต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ รวมถึงการวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเกี่ยวกับวัยรุ่นราว 200 คน โดยวัยรุ่นจำนวนมากเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้าเพราะถูกรังเเก ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาอื่นๆ

วัยรุ่นในการวิจัยเรียนอยู่ในระดับชั้นประถมเเละมัธยม เเละได้รับแอพโทรศัพท์ที่ใช้ในการทดลองที่จะถามคำถามต่างๆ เกี่ยวกับอารมณ์วันละ 3 ครั้ง นานติดต่อกัน 2 สัปดาห์

ลอเรล ฟอสเตอร์ (Laurel Foster) อายุ 15 ปี มีส่วนร่วมในการวิจัยนี้ เธอกล่าวว่า รู้สึกเครียดเกี่ยวกับโรงเรียนเเละความสัมพันธ์กับเพื่อน เธอบอกว่าแอพโทรศัพท์มือถือทำให้เธอรู้สึกว่าถูกสอดแนมตลอดเวลา เเละหน้าเว็บไซท์จำนวนมากก็คอยติดตามนิสัยของผู้ใช้

ส่วน เอลิสสา ลิซารากา (Alyssa Lizarraga) อายุ 19 ปี ก็เข้าร่วมในการวิจัยนี้ เธอกล่าวว่าเป็นโรคซึมเศร้ามาตั้งเเต่เข้าเรียนมัธยมปลาย เละกังวลเกี่ยวกับนิสัยการใช้มือถือเเละสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป เธอเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นทางออนไลน์ในบางครั้ง ซึ่งทำให้รู้สึกเศร้า

ที่มหาวิทยาลัยเเคลิฟอร์เนีย ลอสเองเจลลีส ทีมนักวิจัยได้เสนอการบริการให้คำปรึกษาทางออนไลน์เเละใช้แอพโทรศัพท์มือถือรุ่นทดลองกับนักศึกษาที่เเสดงอาการซึมเศร้าในระดับเล็กน้อยในระหว่างการทดลอง

และที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ วิทยาเขตชิคาโก ทีมนักวิจัยกำลังทดลองใช้ crowdsourcing ทดสอบแอพโทรศัพท์มือถือทดลอง มีคนดาวน์โหลดแอพนี้เกือบ 2,000 คน

นอกเหนือจากการวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯ เเล้ว บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งรวมทั้ง Mindstrong กับ Verily ซึ่งเป็นฝ่ายสุขภาพกับเทคโนโลยีของบริษัทกูเกิลก็กำลังทดสอบแอพทดลองของตนเองอยู่ในขณะนี้

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)