Your browser doesn’t support HTML5
เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ในปัจจุบันช่วยให้คนที่อยู่ห่างไกลกันสามารถพูดคุยและเห็นหน้าค่าตากันได้ใกล้ ๆ ผ่านหน้าจอ แต่สิ่งหนึ่งที่เทคโนโลยีเหล่านี้ขาดหายไปคือการสัมผัส ซึ่งเป็นเสมือนสิ่งเชื่อมโยงความผูกพันของมนุษย์เรา
และเพื่อชดเชยหรือแก้ปัญหาในเรื่องนี้ นักวิจัยที่คณะวิศวกรรมชีวภาพ มหาวิทยาลัย Northwestern ในสหรัฐฯ ได้คิดค้นพัฒนา "ผิวหนังอัจฉริยะ" ด้วยการเพิ่มความรู้สึกตอบสนองแบบกายสัมผัสเข้าไปในเทคโนโลยีเสมือนจริงที่เชื่อมต่อกับผิวหนังจำลอง
ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับวันพุธ นักวิจัยด้านวิศวกรรมนาโน จอห์น โรเจอร์ส และทีมงานที่ Northwestern ได้สร้างผิวหนังจำลองจากวัสดุอ่อนนุ่ม ติดอุปกรณ์ส่งแรงสั่นสะเทือนไว้ด้านใน เชื่อมต่อกับเครือข่ายไร้สายและไม่ต้องใช้แบตเตอรี่
ผิวหนังจำลองแบบใหม่นี้สามารถส่งต่อแรงสั่นสะเทือนเล็ก ๆ เมื่อถูกกระตุ้น ซึ่งคุณโรเจอร์สบอกว่าทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนกายสัมผัสอย่างธรรมชาติ คล้ายกับการถูนิ้วเบา ๆ บนผิวหนังจริง
รายงานวิจัยชิ้นนี้บอกว่า "ผิวหนังอัจฉริยะ" แบบใหม่ สามารถนำไปใช้ได้ในหลายสาขา ตั้งแต่การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เกมคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี VR ตลอดจนการพัฒนาอวัยวะเทียม และการแพทย์ทางไกล หรือ telemedicine
ลุค ออสบอร์น นักวิจัยด้านการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins กล่าวถึงผิวหนังอัจฉริยะนี้ว่า เป็นนวัตกรรมที่น่าตื่นเต้นซึ่งจะช่วยเปลี่ยนโลกการสื่อสารในอนาคต และอาจนำไปผลิตอวัยวะเทียมที่ช่วยเพิ่มความรู้สึกด้านการสัมผัสแก่ผู้สวมใส่ได้ รวมถึง การรับรู้แรงกด ความร้อน ความเย็น และความเจ็บปวดต่าง ๆ
นอกจากนี้ ผิวหนังอัจฉริยะยังอาจนำมาใช้ในการติดต่อธุรกิจ การเล่นคอนเสิร์ต หรือการปราศรัยต่อผู้คนจำนวนมาก ผ่านความรู้สึกที่เหมือนการสัมผัสมือกับผู้ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของจอคอมพิวเตอร์ หรือ "virtual handshake"
แต่ที่พิเศษคือ เทคโนโลยีนี้ทำให้การจับมือหรือสัมผัสกับผู้คนจำนวนมากในคราวเดียวกันนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริงในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้นำการเมือง ผู้นำทางศาสนา หรือนักร้องดาราที่มีแฟน ๆ ติดตามจำนวนมาก
คุณเจเรมี ไบเลนสัน นักจิตวิทยาซึ่งเป็นหัวหน้าห้องทดลองด้านการติดต่อสื่อสารผ่านโลกเสมือน ที่มหาวิทยาลัย Stanford กล่าวว่า การจับมือนั้นมีพลังอย่างไม่น่าเชื่อ และจากการศึกษาพบว่าผู้ที่ได้สัมผัสมือผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริงนั้นสามารถเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกหรือสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการสื่อสารได้อย่างถูกต้องแม่นยำกว่าที่คิดกันไว้ และใกล้เคียงกับการสัมผัสทางกายจริง ๆ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักจิตวิทยาผู้นี้ยังกังวลก็คือ แม้อารมณ์ความรู้สึกที่ส่งผ่านการสัมผัสทางกายจริง ๆ เป็นสิ่งที่โกหกได้ยาก แต่การสร้างสัมผัสเสมือนขึ้นมา ก็หมายความว่าในอนาคตอาจมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้สร้าง "สัมผัสลวง" เพื่อหาผลประโยชน์ได้เช่นกัน
ถึงกระนั้นสำหรับคนทั่วไป การที่จะได้สัมผัสกับคนที่อยู่ไกลให้เหมือนใกล้กัน ก็ดูจะเป็นอนาคตที่น่าตื่นเต้นและน่าค้นหามากกว่าความน่ากลัว