ในยุคที่การมุ่งหาแหล่งพลังงานทางเลือกเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายพยายามทำให้สำเร็จ แนวคิดการสร้างศูนย์กลางด้านพลังงานที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าโดยการสูบน้ำร้อนจากพื้นโลกนั้นฟังดูเป็นเรื่องที่เข้าที และบริษัทแห่งหนึ่งที่หวังจะผลักดันโครงการดังกล่าวให้เป็นจริงกำลังมองดูพื้นที่ส่วนหนึ่งในแถบตะวันตกของรัฐเนวาดา ซึ่งผู้บริหารมั่นใจว่า จะช่วยผลิตไฟฟ้าโดยไม่ก่อมลพิษมากนัก
แต่หน่วยงานบริการปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐ หรือ Fish and Wildlife Service (FWS) กล่าวว่า โครงการนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อพื้นที่ที่คางคกตัวเล็ก ๆ อาศัยอยู่
คางคกที่ว่านี้มีชื่อว่า Dixie Valley และอาศัยอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ ที่อยู่ห่างจากเมืองรีโน รัฐเนวาดาประมาณ 160 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่แห่งเดียวที่มีคางคกชนิดนี้หลงเหลืออยู่บนโลกใบนี้
แต่เนื่องจากแผนการสร้างศูนย์พลังงาน ทำให้ FWS ได้เปลี่ยนสถานะของคางคกจากการเป็นสัตว์ที่ "ถูกคุกคาม" ไปขึ้นบัญชีสัตว์ "ใกล้สูญพันธุ์" เป็นการชั่วคราวเมื่อเดือนเมษายน โดยสัตว์ที่ถูกขึ้นทะเบียนอยู่ในรายชื่อใกล้สูญพันธุ์นั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์หรือไม่มีหลงเหลืออยู่อีกต่อไป
และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว FWS ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า คางคก Dixie Valley เป็นสัตว์ใกล้ที่สูญพันธุ์
ในคำตัดสินครั้งสุดท้าย FWS ได้กล่าวถึงความกังวลว่า ศูนย์พลังงานที่ว่าจะดูดน้ำร้อนจากพื้นดินก่อนที่น้ำนี้จะเคลื่อนตัวมาถึงพื้นผิวตามที่เกิดขึ้นในธรรมชาติมายังจุดที่น้ำร้อนผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ซึ่งก็คือบ่อน้ำพุร้อน นั่นเอง ขณะที่ คางคกนั้นเป็นสัตว์ที่สามารถอาศัยอยู่ได้เฉพาะบนบกที่มีความอบอุ่นและเปียกชื้นเพราะน้ำจากพื้นดิน
ผู้เชี่ยวชาญของ FWS ไม่เชื่อว่า คางคกจะสามารถปรับตัวหรือทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้อาจส่งผลให้คางคกสายพันธุ์ไม่คงเหลืออยู่อีกต่อไป
FWS ยังชี้ด้วยว่า โครงการพลังงานจะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมรวดเร็วเกินกว่าที่คางคกจะมีโอกาสปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่
แพททริค ดอนเนลลี่ (Patrick Donnelly) ผู้อำนวยการกลุ่ม Center for Biological Diversity ในพื้นที่ซึ่งครอบคลุมเนวาดา เรียกการตัดสินใจครั้งนี้ว่าเป็น “ขั้นตอนที่สำคัญในการป้องกันการสูญพันธุ์” ของสัตว์ที่มีความพิเศษชนิดนี้
เขาเห็นด้วยว่า พลังงานสะอาดมีความสำคัญในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพอากาศ “แต่ไม่คุ้มกับการที่คางคกต้องสูญพันธุ์ไป”
ทั้งนี้ บริษัทไฟฟ้าที่อยู่เบื้องหลังโครงการดังกล่าวนี้มีชื่อว่า Ormat Technology และมีการวางแผนเบื้องต้นที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าสองแห่งซึ่งจะผลิตไฟฟ้ารวมกันได้ 60 เมกะวัตต์ในพื้นที่ที่ว่านี้
แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อขัดขวางการสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งผู้พิพากษาของเมืองรีโนยังคงพิจารณาคดีนี้อยู่
ในเดือนตุลาคม Ormat ได้ขอให้ผู้พิพากษาระงับคดีไว้ ในขณะที่มีการพัฒนาแผนการใหม่เพื่อสร้างโรงงานแห่งเดียวที่ผลิตไฟฟ้าได้เพียง 12 เมกะวัตต์
พอล ทอมเซน (Paul Thomsen) รองประธานของ Ormat กล่าวว่า แผนของบริษัทในการสร้างศูนย์พลังงานจะช่วย “สนับสนุนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” และสอดคล้องกับแผนของประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน ในการผลิตพลังงานสะอาดอีกด้วย
ทอมเซน กล่าวว่า คำตัดสินของ FWS ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลย เมื่อพิจารณาถึงมาตรการฉุกเฉินที่มีขึ้นเพื่อปกป้องคางคกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และว่า คำตัดสินนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ Ormat กำลังทำอยู่ก่อนแล้วเพื่อลดและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อคางคกดังกล่าว
- ที่มา: เอพี