Your browser doesn’t support HTML5
นักวิจัยรายงานการศึกษาเกี่ยวกับการนอนหลับในวารสารวิชาการ Frontiers in Psychiatry เมื่อปลายเดือนมิถุนายน จากการศึกษาคู่รักที่มีสุขภาพดี 12 คนในห้องปฏิบัติการทดลองเรื่องการนอนเป็นเวลาสี่วัน ด้วยการให้กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ทั้งนอนคนเดียวแล้วนอนกับคนรักที่รู้ใจ
โดยนักวิจัยศึกษาการทำงานของสมองและระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งคุณภาพของการนอนตลอดช่วงการทดลองดังกล่าว
นักวิจัยพบว่า เมื่อคู่รักนอนบนเตียงเดียวกันพร้อม ๆ กัน คุณภาพของการนอนจะดีกว่าเมื่อนอนคนเดียว โดยคุณภาพของการนอนที่ว่านี้วัดได้จากระดับของการพักผ่อนที่เรียกว่า REM stage ซึ่งย่อมาจากคำว่า rapid eye movement นั่นเอง
REM เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการนอน เพราะช่วยให้ร่างกายประมวลรวบรวมความจำ ควบคุมอารมณ์ และแก้ปัญหาต่าง ๆ และทำให้เราฝันได้นั่นเอง
โดยปกติแล้วร่างกายจะผ่านสี่ขั้นตอนสำหรับการนอน โดยในขั้นแรก เราจะเริ่มหลับอย่างเบา ๆ แต่ไม่ลึก และในขั้นที่สอง ร่างกายจะไม่รับรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัว จากนั้นในขั้นที่สามและสี่ซึ่งเป็นช่วงที่เราหลับสนิทนั้น ร่างกายจะใช้การนอนนี้เพื่อฟื้นฟูและซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ และเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า REM ซึ่งทำให้เราเริ่มฝันได้นั่นเอง
นักวิจัยอธิบายว่า การหลับในขั้น REM นี้อาจเกิดขึ้นในช่วงใดก็ได้ของการนอน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้น 90 นาทีหลังจากที่เราหลับ โดยในช่วงของ REM แขนและขาของเราจะไม่เคลื่อนไหว ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับตัวเอง ในกรณีที่เราอาจจะฝันแบบโลดโผนมากเกินไป
หากเรานอนหลับได้ดีและมีคุณภาพ ช่วงของการหลับแบบ REM นี้อาจเกิดซ้ำได้หลายครั้ง และการหลับสนิทก็เป็นประโยชน์สำหรับการประมวลความจำ การซ่อมแซมกล้ามเนื้อ การฟื้นฟูระบบภูมิต้านทาน และการสร้างเซลล์ประสาทขึ้นใหม่ด้วย
นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การหลับอย่างมีคุณภาพซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายและสมองนี้มักเกิดขึ้นหากเรานอนบนเตียงเดียวกับคนที่รู้ใจหรือมีความสัมพันธ์ที่ดีด้วย และแน่นอนว่าคุณภาพของการนอนดังกล่าวย่อมมีประโยชน์ต่อสุขภาพจิต สุขภาพกาย รวมทั้งต่อความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์เมื่อเราตื่นขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยอมรับว่า กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา 12 คู่นี้อาจยังน้อยไป และยังจะต้องมีการศึกษาเพื่อยืนยันข้อมูลที่ได้เพิ่มเติม