การเมืองแบบมีฝ่ายค้าน รสชาติใหม่ในรัฐสภาสิงคโปร์: คำในข่าว

A man rests along Merlion park in Singapore on May 15, 2020. (Photo by Roslan RAHMAN / AFP)

Your browser doesn’t support HTML5

Newsy Vocab


หลังการเลือกตั้งของสิงคโปร์ ผ่านพ้นไปเมื่อเดือนกรกฎาคม มาพร้อมกับปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมือง ซึ่งพาดหัวข่าวของวีโอเอ ระบุว่า New Parliament Tests Singapore’s Appetite for Opposition Politics หมายความว่า เปิดสภาสมัยประชุมใหม่หยั่งเสียงตอบรับการเมืองที่มีฝ่ายค้านของสิงคโปร์

ข่าวนี้เล่าถึงการประชุมสภาสิงคโปร์เมื่อเดือนสิงหาคม มาพร้อมสิ่งที่ไม่เคยได้เห็นในแวดวงการเมืองแดนลอดช่อง นั่นคือ บทบาทของผู้นำฝ่ายค้านในสภาสิงคโปร์ ซึ่งได้นายพริธัม ซิงห์ (Pritam Singh) เลขาธิการพรรคแรงงาน (WP) ที่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งสำคัญนี้ ที่นักวิเคราะห์มองว่านี่ถือเป็นการส่งสัญญาณความไม่พึงพอใจในระบบการเมืองสิงคโปร์ ที่ปกครองโดยพรรคเดียวมายาวนาน

การประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ช่วงโควิดของพรรครัฐบาลสิงคโปร์ เมื่อ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา พรรคกิจสังคม (PAP) ฝ่ายรัฐบาลของนายลี เซียน ลุง ได้ไป 83 ที่นั่ง ที่น่าสนใจคือพรรคแรงงานฝ่ายค้านได้ไป 10 ที่นั่งในสภา และพรรคก้าวหน้าสิงคโปร์ (Progress Singapore Party) ได้ไป 2 ที่นั่ง

แม้ว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะยังห่างไกลคำว่าชัยชนะสำหรับพรรคอื่นๆ แต่ซุ่มเสียงของชาวสิงคโปร์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ สะท้อนถึงพรรครัฐบาลที่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1965 เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มี 11 พรรคที่เข้าร่วม พบว่าพรรค PAP ได้คะแนนสนับสนุน 61% ซึ่งเป็นระดับคะแนนสนับสนุนเกือบต่ำสุดนับตั้งแต่พรรค PAP บริหารสิงคโปร์มาหลายทศวรรษ

หลังศึกเลือกตั้งใหญ่นี้ ลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และเลขาธิการพรรค PAP จับสัญญาณว่าชาวสิงคโปร์ต้องการให้มีฝ่ายค้านในสภา นำไปสู่การจัดตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ และได้กล่าวต่อสมาชิกพรรค PAP ว่าให้เตรียมรับมือกับการอภิปรายจากฝ่ายค้านที่ดุเดือดหลังเปิดสภาใหม่นี้

นักวิเคราะห์การเมืองอาเซียนจาก Council on Foreign Relations โจชัว เคอร์แลนต์ซิกค์ มองว่าการเลือกตั้งสิงคโปร์ครั้งนี้ สะท้อนว่าบทบาทของฝ่ายค้านจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในเวทีการเมืองสิงคโปร์ และภาวะที่พรรครัฐบาลอ่อนแอ ทั้งจากการรับมือกับโควิด-19 ที่สะเทือนกลุ่มพนักงานออฟฟิศแดนลอดช่อง รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ จะสร้างโอกาสให้พรรคอื่นๆมีตัวตนมากขึ้น

ด้าน รศ. เคนเนธ พอล ทัน จาก Lee Kuan Yew School of Public Policy กล่าวว่าการเลือกตั้งใหญ่สิงคโปร์ครั้งนี้ สะท้อนความปรารถนาให้มีการเปิดอภิปรายทางการเมืองมากขึ้น รวมทั้งสะท้อนความไม่พึงพอใจรัฐบาลที่พยายามทุกวิถีทางในการรักษาอำนาจทางการเมือง

คำในข่าวสัปดาห์นี้ มีคำว่า appetite จากพาดหัวข่าวนี้ คำว่า appetite ตามปกติเป็นคำนาม หมายถึง ความอยากอาหาร อย่างที่เราเห็นคำศัพท์ในเมนู appetizer หมายถึง อาหารเรียกน้ำย่อย เป็นจานเปิดกระเพาะ เพิ่มความอยากอาหาร ก่อนอาหารจานหลักจะมา

แต่ในที่นี้ appetite กลับหมายถึงความต้องการ ความอยาก หรือการเปิดใจรับ

อีกตัวอย่างของคำว่า appetite ในบริบทเดียวกัน เช่น After the huge losses in his last investment, the fund manager has no appetite for high-risk stocks. หมายความว่า หลังจากที่ขาดทุนหนักในการลงทุนครั้งที่แล้ว ผู้บริหารกองทุนไม่มีกะจิตกะใจจะซื้อหุ้นความเสี่ยงสูงแล้ว

สำหรับ appetite ที่เป็นเรื่องความอยากอาหารจริงๆ ตัวอย่างเช่น

My children don’t like meat and vegetables, but always have strong appetite when they see French pastries. หมายความว่า ลูกๆของฉันไม่ชอบทานเนื้อสัตว์และผัก แต่ถ้าเป็นขนมอบสไตล์ฝรั่งเศสแล้วล่ะก็ เห็นทีไรก็หิวทุกที

ขยายความต่อเรื่องความหิวและอยากอาหาร

ถ้าจะบอกว่าหิวมาก ให้ใช้ว่า I am starving. แยกออกมาจะเห็นคำว่า starve เป็นกริยา หมายถึง หิวโหย และคำนี้ยังแปลได้ว่า ปล่อยให้อดอยากด้วย ตัวอย่างเช่น Maria left her cat to starve for a day after it destroyed her favorite shoes. มาเรียปล่อยให้แมวไม่มีอาหารกินไปหนึ่งวัน หลังจากที่มันทำรองเท้าคู่โปรดของเธอพัง

หิวมากๆ อีกเช่นกัน สามารถใช้ได้ว่า I am famished. หมายถึง หิวหนักขั้นสุด ทำให้คิดถึงคำว่า famine เป็นคำนามที่แปลว่า ภาวะขาดแคลนอาหาร หรือภาวะอดอยาก

หรือจะใช้ง่ายๆ ว่า hungry ที่แปลว่าหิวได้เลยค่ะ

ส่งท้ายด้วยคำคมวันนี้ เป็นภาษิตภาษาอังกฤษที่ว่า A hungry belly has no ears. แปลได้ว่า เมื่อใดที่ท้องหิว หูก็ไม่ฟังอะไรทั้งนั้น

Your browser doesn’t support HTML5

Newsy Vocab คำในข่าว Ep.11 : คำศัพท์เกี่ยวกับ “ความหิว” ภาษาอังกฤษใช้คำว่าอะไรบ้าง?