Your browser doesn’t support HTML5
เป็นเวลาถึง 2 ทศวรรษแล้วที่เหตุการณ์ 9/11 ได้จุดประกายให้คนบางส่วนหลงเชื่อทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ที่พยายามสร้างเรื่องมาอธิบายว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่แท้จริง
อิทธิพลของข้อมูลเท็จที่ระบาดอย่างแพร่หลายในโลกอินเตอร์ในตอนนั้นยังสามารถพบเห็นได้ในปัจจุบัน เช่น การกุเรื่องว่าเชื้อโครานาไวรัสเป็นอาวุธชีวภาพ หรือการบิดเบือนเรื่องผลการเลือกตั้งประธาธิบดีสหรัฐฯรอบล่าสุดว่าเกิดการโกงคะแนนขึ้นจนทำให้ทรัมป์พ่ายแพ้
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์กถล่มลงมา เนื่องจากการโจมตีของผู้ก่อการร้าย ทฤษฎีสมคบคิดอันแรกเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 ก็ผุดขึ้นบนเว็บบอร์ดในโลกออนไลน์
ผู้เผยเเพร่เขียนว่าตึกทั้งสองนั้นถล่มลงมาเพราะระเบิดที่ถูกติดตั้งไว้ในตัวอาคารก่อนหน้านี้ ไม่ใช่เพราะเครื่องบินที่ถูกผู้ก่อการร้ายจี้และบังคับพุ่งชน
ทฤษฎีสมคบคิดข้างต้นนั้นเป็นหนึ่งในหลายสิบทฤษฎีที่กลุ่มคนที่ไม่ชอบอดีตประธาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช หรือคนที่ต่อต้านสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานปักใจเชื่อ ซึ่งแม้ในยุคต่อมาที่สหรัฐฯมีบารัค โอบามาเป็นประธาธิบดี คนบางส่วนก็เชื่อว่า 9/11 นั้นเกิดขึ้นโดย Deep State หรือผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของรัฐบาลสหรัฐฯ
ผลสำรวจพบว่าความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับ 9/11 พุ่งสูงในช่วงเวลาหลายปีหลังเกิดการก่อการร้ายขึ้น แต่ในที่สุดกระแสดังกล่าวก็ค่อยๆ ลดลง มีเพียงคนอเมริกันส่วนน้อยที่ยังเคลือบแคลงใจถึงคำอธิบายของรัฐบาลกับสิ่งที่เกิดขึ้น
มาร์ค เฟนสเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติของทฤษฎีสมคบคิดและอาจารย์ด้านกฎหมายที่ University of Florida บอกว่า สำหรับบางคน มันฟังดูเหมือนกับภาพยนตร์เมื่อพวกเขาได้ยินว่าเครื่องบินพุ่งตึกและพยายามพุ่งชนอาคาร Pentagon หรือสำนักงานใหญ่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ พวกเขาพยายามที่จะทำความเข้าใจว่าเหตุการณ์เหลือเชื่อแบบนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทัศนคติที่ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นความจริงหรือทฤษฎีสมคบคิดจึงเกิดขึ้นเมื่อมีวิกฤตร้ายแรง
ทางแคเร็น ดักลาส อาจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย Kent ในอังกฤษ อธิบายว่า ทฤษฎีสมคบคิดนั้นมีให้พบเห็นได้โดยตลอด แต่ว่าวิธีการแพร่กระจายข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเหล่านี้ได้เปลี่ยนไป อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียต่างๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญที่ทำให้ทฤษฎีสมคบคิดปรากฎขึ้นมาง่ายขึ้น ซึ่งบางคนก็เลือกที่จะเชื่อหรือเข้าร่วมกลุ่มกับคนที่อธิบายถึงเบื้องหลังของเหตุการณ์ต่างๆ ในแบบเดียวกัน
ทั้งนี้ แมท แคมเบลล์ ผู้สนับสนุนทฤษฏีสมคมคิดเกี่ยวกับ 9/11 และชาวอังกฤษที่สูญเสียพี่ชายของเขาไปในเหตุการณ์ดังกล่าว บอกว่า 9/11 นั้นเป็นเหตุการณ์ที่จุดประกายให้ผู้คนเกิดความเคลือบแคลงใจในความโปร่งใสของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตราย และเมื่อคนคิดว่ารัฐบาลโกหก พวกเขาก็สามารถเลือกที่ไม่จะรับฟังรัฐบาลอีกต่อไปได้
ข้อมูลเท็จและความกังวลของผู้คนต่อสิ่งที่ทฤษฏึสมคบคิดต่างๆพูดถึง ได้กระจายผ่านโลกออนไลน์และถูกพูดต่อโดยนักการเมืองบางคนอย่างแพร่หลาย รวมถึงอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่าอดีตประธานาธิบดีโอบามาไม่ได้เกิดเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา (birtherism) เรื่องกลุ่มสมาชิกพรรคเดโมแครตที่ค้าประเวณีเด็กจากใต้ถุนร้านพิซซ่าแห่งหนึ่งในกรุงวอชิงตัน (Pizzagate) ไปจนถึงการเกิดกลุ่มคิวแอนอน (QAnon) การเเพร่ข่าวปลอมเรื่องโควิด และวัคซีนป้องกันโควิด เป็นต้น
ผู้ผลิตสารคดีที่สนับสนุนทฤษฏีสมคมคิดของ 9/11 อย่างแครี่ โรว์ ได้บอกกับสำนักข่าวเอพีว่า ทฤษฏีสมคมคิดของ 9/11 ไม่เคยก่อให้เกิดอันตรายเมื่อเทียบกับทฤษฏีสมคมคิดเรื่องโควิดหรือเรื่องการเลือกตั้งประธาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020 ที่บอกว่าทรัมป์เป็นผู้ชนะที่แท้จริง
แครี่กล่าวว่า “ดูสิว่ามันเลยเถิดไปถึงไหน เรามีคนบุกเข้าอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งโดนโกง เรามีกลุ่มคนที่เลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีนและพวกเขาเองก็กำลังจะเสียชีวิตที่ในโรงพยาบาล เรามาถึงจุดที่ข้อมูลกำลังฆ่าคนแล้ว”
อาจารย์เฟนสเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติของทฤษฎีสมคบคิดและอาจารย์ด้านกฎหมายที่ University of Florida อธิบายถึงกลุ่มคนที่เชื่อทฤษฏีสมคบคิดว่า ปกติแล้ว กรณีนี้จะเกิดขึ้นกับคนที่รู้สึกว่าตนเองถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงอำนาจได้ แต่สิ่งที่แปลกออกไปในตอนนี้ คือ ฝ่ายที่เข้าถึงอำนาจได้หรือฝ่ายที่เคยมีอำนาจในทำเนียบขาว กลับมาเป็นฝ่ายที่ปลุกปลั่นและแพร่ทฤษฏีสมคบคิดต่างๆเอง
แม้ทฤษฏีสมคมคิดในสหรัฐฯจะมีหลายสิบเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการสังหารของอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ เรื่องยูเอฟโอ จนถึงเรื่องการที่สหรัฐฯไม่ได้ไปเหยียบดวงจันทร์จริง แต่เรื่องที่ผู้คนคุ้นหูกันมากและถือเป็นเรื่องที่เปิดเผยอิทธิพลการแพร่ข้อมูลเท็จของโลกออนไลน์ คือ ทฤษฏีสมคมคิด 9/11
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทฤษฏีสมคมคิดเกี่ยวกับโควิดมีการแสดงผลในกูเกิ้ลมากกว่าทฤษฏีสมคมคิด 9/11 ถึงสามเท่าแล้ว
บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างๆของสหรัฐฯบอกว่ากลุ่มบริษัทเหล่านี้ได้ทำการการสกัดกั้นข้อมูลเท็จออนไลน์เกี่ยวกับ 9/11 เท่าที่พอจะได้แล้ว โดย YouTube มีการแปะลิ้งค์ของเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือเมื่อพบวีดีโอที่แพร่ข้อมูลเท็จ ส่วนเฟสบุ๊กก็มีการตรวจสอบและให้ข้อเท็จจริงลงบนวีดีโอไวรัลต่างๆ เกี่ยวกับ 9/11 แล้ว รวมถึงวีดีโอที่กล่าวเท็จว่าองค์กรความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯถูกผู้ก่อการร้ายถล่มด้วยขีปนาวุธ
สุดท้ายนี้ เมแกน โจนส์ ผู้อำนวยการด้านเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานแห่งชาติ 11 กันยายน บอกกับสำนักข่าวเอพีว่า เวลานักท่องเที่ยวหรือนักเรียนเข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานดังกล่าว ประเด็นทฤษฎีสมคบคิดและข้อมูลเท็จต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่มักถูกหยิบขึ้นมาพูดหรือตั้งคำถาม แต่เธอก็ย้ำว่านั่นคือเป็นโอกาสที่ดีที่เปิดให้ผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายความจริงที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดและติดตามหาข้อเท็จจริงเหล่านั้นให้กระจ่างได้
(ที่มา สำนักข่าวเอพี)