นักวิทยาศาสตร์ค้นพบพืชมหัศจรรย์ในออสเตรเลีย สามารถ Clone ตนเองได้เพื่อความอยู่รอดในสภาพการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศโลก

  • Phil Mercer
    Nittaya Maphungphong

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบพืชมหัศจรรย์ในออสเตรเลีย สามารถ Clone ตนเองได้เพื่อความอยู่รอดในสภาพการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศโลก

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบพืชในออสเตรเลีย ที่สามารถ Clone ตนเองได้ การค้นพบทำให้นักวิจัยเชื่อว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศโลกระยะยาวขึ้นมา พืชพันธุ์ไม้ต่างๆจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าที่เป็นห่วงกังวลกัน แต่นักวิจัยเตือนว่า ที่พืชพันธุ์ทั้งหลายจะปรับตัวหรือเอาตัวรอดได้ยากกว่าคือการแทรกแซงของมนุษย์ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า หรือการนำพันธุ์พืชและสัตว์ใหม่ๆที่เป็นอันตรายเข้าไปเพาะปลูกในบริเวณที่ไม่ใช่ที่อยู่ดั้งเดิมของพืชและสัตว์เหล่านั้น

นักวิจัยที่สวนพฤกษศาสตร์ในนครซิดนี่ย์กล่าวว่า พืชต้นนี้แสดงให้เห็นได้ว่า ธรรมชาติสามารถปรับตัวได้อย่างไรเมื่อบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก

เมื่อสัก 7,000 ปีมาแล้ว พืชต้นหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกทางพฤกษศาสตร์ว่า Erythroxylum ใน Northern Territory ซึ่งอยู่ในตอนเหนือของออสเตรเลีย ถูกตัดขาดจากพืชตระกูลเดียวกันใน Cape York ในรัฐ Queensland ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของออสเตรเลีย สาเหตุมาจากการที่น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้เกิดอ่าว Carpentaria ขึ้นมา แยกพื้นที่ในตอนเหนิอกับทางตะวันออกของประเทศออกจากกัน

เมื่อขาดสมรรถนะที่จะผสมพันธุ์ และขยายตัวออกไปได้ตามธรรมชาติ Erythroxylum ใน Northern Territory ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ด้วยการสร้างหน่อขึ้นมาราวๆ 350 หน่อ จากรากเดียวกันที่ขยายออกไป

ดร. Maurizio Rossetto นักวิจัยของสวนพฤกษศาสตร์ที่นครซิดนี่ย์ กล่าวว่า พืชต้นนี้สามารถรักษาระดับความหลากหลายของเชื้อพันธุ์ด้วยการกลายพันธุ์ โดยผ่านทางหน่อที่งอกขึ้นมาเป็นจำนวนมาก จากรากเดียวกันที่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางใต้พื้นดิน

นักพฤกษศาสตร์ผู้นี้กล่าวว่า เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นเชื้อพันธุ์เดียวเท่านั้น แต่มีการกลายพันธุ์เท่าที่ระบุได้แล้วอย่างน้อย 12 ครั้ง และเชื่อว่านี่เป็นครั้งแรกที่ได้พบเห็นหลักฐานในเรื่องนี้

นักวิจัยยังไม่แน่ใจว่า ต้น Erythroxylum กลายพันธุ์ได้อย่างไร พืชมหัศจรรย์ที่รู้รักษาตัวรอดนี้สูงไม่ถึง 30 เซ็นติเมตร และมีดอกไม้สีขาวที่ไม่โดดเด่น

การค้นพบครั้งนี้ ให้กำลังใจกับนักวิจัยว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศโลกระยะยาวขึ้นมา พืชพันธุ์ไม้ต่างๆจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าที่เป็นห่วงกังวลกัน

แต่นักวิจัยเตือนว่า ที่พืชพันธุ์ทั้งหลายจะปรับตัว หรือเอาตัวรอดได้ยากกว่าคือการแทรกแซงของมนุษย์ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า หรือการนำพันธุ์พืชและสัตว์ใหม่ๆที่เป็นอันตรายเข้าไปเพาะปลูกในบริเวณที่ไม่ใช่ที่อยู่ดั้งเดิมของพืชและสัตว์เหล่านั้น