Your browser doesn’t support HTML5
ปลาทะเลเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอไมก้า 3 ที่ช่วยให้สุขภาพเเข็งเเรง มีการวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่าการรับประทานปลาช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมตามวัยหรือดีเมนเทียได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปลามีระดับสารปรอทในระดับสูงซึ่งเป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทสมอง ซึ่งบรรดานักวิจัยกังวลว่าอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคความจำเสื่อมตามวัยที่ว่านี้
และเพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ ทีมนักวิจัยที่ศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัย Rush University ใน Chicago ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างสมองจากอาสาสมัครที่เสียชีวิตแล้วจำนวน 286 คน และพบว่าอาสาสมัครคนที่รับประทานปลาเยอะมีระดับสารปรอทในร่างกายในระดับที่สูง
ทีมนักวิจัยพบว่าระดับสารปรอทในร่างกายในระดับสูงไม่ได้ทำให้เกิดอาการความจำเสื่อม หลังจากวัดดูระดับโปรตีนที่เกาะตัวในเนื้อเยื่อสมอง
อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังพบด้วยว่าการรับประทานปลาทะเลอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งก็เพียงพอที่จะช่วยป้องกันผู้สูงอายุบางคนที่เข้าร่วมในการวิจัยไม่ให้เป็นโรคอัลไซม์เมอร์สได้
คุณ Cindy Lawler ผู้อำนวยการแห่งสถาบันแห่งชาติสหรัฐฯ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพสิ่งแวดล้อม (National Institute of Environmental Health Sciences) กล่าวว่าผลดีของอาหารทะเลต่อร่างกายที่ทีมวิจัยค้นพบนี้ถือว่าเป็นข่าวดี การบริโภคปลาทะเลในระดับพอดีเป็นผลดีต่อสุขภาพ เธอมองว่าผลการวิจัยนี้สร้างความหวัง
ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Rush พบว่าในอาสาสมัครที่รับประทานเนื้อปลาทะเลเป็นประจำ มีการเปลี่ยนแปลงในสมองที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซม์เมอร์สและโรคดีเมนเทียน้อยมาก
แต่ผลดีที่ว่านี้เกิดขึ้นเฉพาะกับอาสาสมัครสูงวัยกลุ่มหนึ่งที่มียีนที่เรียกว่า Apoe4 ในร่างกาย ที่ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเป็นโรคอัลไซม์เมอร์ส
คนที่มียีน Apoe4 เป็นคนที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อตัวของคราบโปรตีนเทาในสมองอย่างที่พบในคนที่เป็นโรคอัลไซม์เมอร์ส
คุณ Lawler กล่าวว่าอัลไซม์เมอร์สเป็นโรคร้าย และตนคิดว่าผลการศึกษานี้ช่วยสร้างความหวังว่า แม้ว่าคุณจะมียีนที่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย เรายังมีหนทางในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ เพียงเเต่ปรับนิสัยการบริโภคเท่านั้น
อาสาสมัครในการวิจัยที่รับประทานปลาทะเล มีอายุขัยสูงโดยเสียชีวิตที่อายุ 90 ปี นี่เเสดงให้เห็นว่าปลาทะเลมีประโยชน์ต่อร่างกาย
สถาบันแห่งชาติสหรัฐฯ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพสิ่งแวดล้อมเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนแก่การวิจัยนี้ ผลการศึกษาได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร American Medical Association ไปเมื่อเร็วนี้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)