นักชีววิทยาทางทะเลอเมริกันไขปริศนาชีวิตใต้ทะเลของเต่าหัวฆ้อนในมหาสมุทรแอตแลนติก

Your browser doesn’t support HTML5

Sea Turtle Lost Years




ทีมนักวิจัยในรัฐฟลอริด้าค้นคว้าชีวิตใต้ทะเลที่ลึกลับของลูกเต่าหัวฆ้อนเพื่อหาทางอนุรักษ์เต่าสายพันธุ์นี้ให้อยู่คู่กับมหาสมุทรแอตแลนติกต่อไป

ลูกเต่ามีขนาดเล็กจิ๋วและมักไม่อยู่กับที่ทำให้ยากต่อการติดตามเฝ้าดู การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาชิ้นเเรกที่ติดตามดูพฤติกรรมและการเดินทางใต้ทะเลของเต่าตั้งเเต่ยังเป็นลูกเต่าด้วยการใช้ระบบติดตามแบบตรวจจับสัญญาณระยะไกล

คุณ Kate Mansfield นักชีววิทยาทางทะเลเเห่งมหาวิทยาลัย University of Florida เป็นหัวหน้าการวิจัยครั้งนี้ เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าทีมงานใช้ป้ายขนาดจิ๋วติดลงไปบนตัวลูกเต่าหัวฆ้อน (loggerhead) จำนวน 17 ตัวก่อนจะปล่อยลูกเต่าลงสู่ทะเลแอตเเลนติกเหนือที่รัฐฟลอริด้า และทีมงานทำการเฝ้าติดตามดูการเดินทางของลูกเต่าหัวฆ้อนในท้องทะเลนานถึง 220 วัน

เธอกล่าวว่าป้ายที่ติดลงบนตัวลูกเต่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานจากเเสงอาทิตย์ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในการส่งสัญญาณสื่อสารกับดาวเทียม ทางทีมงานจึงสามารถใช้ป้ายขนาดเล็กมากที่สุดเท่าที่จะหาได้เพื่อใช้กับลูกเต่าขนาดเล็ก

คุณ Kate Mansfield หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่าทีมงานตั้งสมมุติฐานว่าลูกเต่าหัวฆ้อนน่าจะว่ายน้ำอยู่ในระดับผิวทะเลตลอดเวลาและข้อมูลที่ได้จากการติดตามการเดินทางของลูกเต่ากลุ่มนี้ก็ยืนยันสมมุติฐานดังกล่าว

ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Proceedings of the Royal Society B คุณ Kate Mansfield เปิดเผยว่าข้อมูลจากดาวเทียมยังชี้ให้เห็นลักษณะการเดินทางของลูกเต่าไปในกระเเสน้ำทะเลในมหาสมุทรเเอตแลนติกเหนือด้วยแต่ปรากฏว่าลูกเต่าหัวฆ้อนจำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งหมดได้แยกตัวออกมาจากกระเเสการไหลของน้ำทะเลและเข้าสู่ทะเลซาร์แกสโซ่ (Sargasso Sea) ที่ตั้งอยู่ระหว่างกลางของกระเเสน้ำทะเลในมหาสมุทรแอตเเลนติก
ทะเลซาร์แกสโซ่คือทะเลที่อยู่บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนืออยู่ระหว่างเกาะเบอร์มิวดาและหมู่เกาะลีเวิร์ดเป็นทะเลที่สงบนิ่งและอุดมไปด้วยสาหร่าย

ทีมนักวิจัยค้นพบว่าทะเลซาร์แกสโซ่เป็นแหล่งที่อยู่และเเหล่งอาหารที่สำคัญแก่ลูกเต่าหัวฆ้อนเนื่องจากมีสาหร่ายอุดมสมบูรณ์ ลูกเต่าอาศัยอยู่ในระดับผิวน้ำทะเลเนื่องจากน้ำทะเลจะอุ่นกว่าใต้ทะเล นอกจากจะกินสาหร่ายทะเลเเล้ว ลูกเต่าหัวฆ้อนยังกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยในสาหร่ายด้วย

คุณ Kate Mansfield หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่าข้อมูลที่ได้สร้างความตื่นเต้นเเก่ทีมงานเป็นอย่างมากเพราะชี้ให้เห็นว่าเต่ามีเส้นทางการเดินทางในท้องทะเลที่หลากหลายกว่าที่เข้าใจกันเเต่แรกที่ว่าเต่าอพยพไปตามกระเเสการไหลเวียนของน้ำทะเลไปทั่วมหาสมุทรแอตเเลนติกในทิศทางเดียว

ทีมนักวิจัยคิดว่าข้อมูลที่ได้ทำให้เชื่อว่าทะเลซาร์แกสโซ่อาจจะเป็นเเหล่งอาศัยของเต่าหัวฆ้อนที่จำเป็นต้องพิจารณาถึงแนวทางการอนุรักษ์เพื่อช่วยให้เต่าหัวฆ้อนอยู่รอดได้เเม้ว่าเต่าหัวฆ้อนอาจจะเเวะเวียนเข้าไปอาศัยและหากินในทะเลซาร์แกสโซ่เพียงชั่วคราวก่อนจะเดินทางต่อไปตามกระเเสน้ำทะเลที่ไหลเวียนไปทั่วมหาสมุทรแอตแลนติกอีกครั้ง

คุณ Kate Mansfield หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวว่ากำลังขยายขอบเขตการศึกษาออกไปนอกเหนือจากเต่าหัวฆ้อนในมหาสมุทรแอตแลนติกโดยจะมุ่งที่จะศึกษาพฤติกรรมของลูกเต่าต่างสายพันธุ์ในท้องมหาสมุทรอื่นๆ อีกด้วย