นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า การทดลองวัคซีนแก้การติดยาเสพติดโคเคนกับหนูในห้องทดลองได้ผล และจะทดลองกับคนได้ในอีกปีหรือสองปีข้างหน้า

  • Jessica Berman
    Nittaya Maphungphong

Drugs. Cocaine. Nov. 2010

วัคซีนที่ว่านี้ทำจากโปรทีนเชื้อไวรัสไข้หวัดธรรมดาและโมเลกุลที่มีโครงสร้างเลียนแบบโคเคน โคเคนเป็นยาเสพติดที่ทำมาจากใบโคค่า วัคซีนนี้จะสะกัดกั้นโคเคนที่เสพเข้าไป ไม่ให้เข้าไปกระตุ้นส่วนของสมองที่จะปล่อยสารชีวเคมีออกมาและทำให้ผู้เสพมีความรู้สึกรื่นรมย์สบายใจ

นักวิจัย Ronald Crystal ของภาควิชาพันธุศาสตร์การแพทย์ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Cornell ในนครนิวยอร์ค หัวหน้าทีมวิจัย อธิบายการทดลองวัคซีนนี้กับหนูในห้องทดลองไว้ว่า หลังจากที่ฉีดวัคซีนให้หนูแล้ว ก็ให้โคเคนแก่หนูเป็นเวลาสี่สัปดาห์ ซึ่งปรากฎว่าไม่มีผลกระทบหนูเลย

วัคซีนที่ทดลองปกป้องหนูจากโคเคนได้เป็นเวลา 12 สัปดาห์ นักวิจัยผู้นี้เชื่อว่า ถ้านำมาใช้กับผู้ที่อยากจะเลิกเสพโคเคน คงจะต้องฉีด booster vaccine หรือวัคซีนเสริมต่อให้

นอกจากวัคซีนที่ทีมงานวิจัยชุดนี้กำลังทดลองอยู่ ยังมีวัคซีนที่กำลังใช้ทดลองกับคนอยู่อย่างน้อยอีกชนิดหนึ่งในเวลานี้ แต่เท่าที่ปรากฎ การทดลองวัคซีนที่ว่านั้น ได้ผลเพียง 40% ในการลดความกระหายอยากเสพโคเคน

นักวิจัย Ronald Crystal บอกว่า ที่คิดว่าวัคซีนของเขาจะทำงานได้ผลดีกว่า ก็เพราะมีเศษส่วนของเชื้อไวรัสที่ร่างกายคนเรารู้จักดี

เขากล่าวว่า ระบบภูมิคุ้มกันร่ายกายของเรามีปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วแข็งขันต่อเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเชื้อไข้หวัด ด้วยเหตุนี้ จึงอาศัยใช้โมเลกุลที่มีโครงสร้างเหมือนโคเคนเกาะติดเข้ากับส่วนของไวรัสที่เรียกว่า adenovirus

สถาบันการเสพติดแห่งชาติของสหรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนงานวิจัยดังกล่าว และผู้อำนวยการ Nora Volkow ของสถาบันบอกว่า ส่วนที่ยากคือการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตระหนักว่า ยาเสพติดเป็นผู้รุกราน เพราะโมเลกุลของโคเคนมีขนาดเล็กมาก ผู้อำนวยการสถาบันการเสพติดของสหรัฐเชื่อว่า น่าจะใช้วิธีเดียวกันนี้ในการผลิตวัคซีนแก้การเสพติดอื่นๆ รวมทั้งเฮโรอินได้ด้วย

เธอกล่าวว่า ส่วนที่จะต้องปรับคือสารประกอบ ซึ่งมีโครงสร้างที่เป็นสารเคมีเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นวัคซีนที่ใช้ได้กับโคเคน จะนำไปใช้กับเฮโรอินไม่ได้ ต้องพัฒนาขึ้นมาสำหรับใช้กับเฮโรอินโดยเฉพาะ

ถ้าการผลิตวัคซีนเพื่อบำบัดการเสพติด ไม่ว่าจะเป็นโคเคน เฮโรอิน เหล้า หรือบุหรี่ประสบความสำเร็จ นอกจากจะช่วยผู้คนได้เป็นจำนวนมากแล้ว ยังจะช่วยให้ประเทศต่างๆแก้ปัญหาอื่นๆที่ต่อตามมากับการเสพติด เช่น ความรุนแรงที่มาจากการค้ายาเสพติด ค่ารักษาพยาบาลผู้เสพติด และการสูญเสียผลิตภาพของผู้ที่เสพติด เหล่านี้ เป็นต้น

นักวิจัย Ronald Crystal คิดว่าจะทดลองวัคซีนนี้กับมนุษย์ได้ในเวลาอีกหนึ่งหรือสองปีข้างหน้า

ผู้ที่สนใจเรื่องวัคซีนนี้ หาอ่านได้ในวารสาร Molecular Therapy