เมื่อพูดถึงปะการัง หลายๆ คนจะนึกถึงสิ่งมีชีวิตที่ดูเหมือนก้อนหินในท้องทะเลที่เต็มไปด้วยปลาหลากสีสัน แต่ปะการังประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหลายแสนชนิดที่อาศัยและหากินเหมือนสัตว์ทะเลอื่นๆ
ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยในฮาวายและออสเตรเลีย ได้สร้างปะการังขึ้นมาในห้องทดลองเพื่อดูว่าจะสามารถทนต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้นหรือไม่ และถึงเวลาแล้วที่จะนำสิ่งที่พวกเขาคิดค้นขึ้นไปทดสอบในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ ทำให้มหาสมุทรอุ่นขึ้น ซึ่งสถานการณ์เช่นนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล และว่า หากปะการังที่ทนต่อความร้อนซึ่งพวกเขาพัฒนาขึ้นสามารถดำรงชีวิตได้ดีในมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น ก็จะสามารถนำไปใช้เพื่อช่วยเหล่าปะการังตามธรรมชาติที่กำลังจะตายได้
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ทดสอบสามวิธีในการสร้างปะการังที่มีความแข็งแรงและสมบูรณ์อยู่ในธรรมชาติ
วิธีที่หนึ่ง คือ การคัดเลือกสายพันธุ์ โดยนักวิทยาศาสตร์จะเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อผลิตตัวอ่อนของปะการังที่มีลักษณะที่ต้องการ
วิธีที่สอง คือ การทำให้ปะการังมีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพื่อปรับสภาพให้ปะการังสามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมของมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น และวิธีที่สาม คือ การเปลี่ยนแปลงสาหร่ายที่ให้สารอาหารที่จำเป็นแก่ปะการัง
คิรา ฮิวส์ (Kira Hughes) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งฮาวาย (University of Hawaii) ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการนี้กล่าวว่า วิธีการทั้งหมดนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในห้องทดลอง
เธอบอกกับสำนักข่าวเอพีด้วยว่า นักวิทยาศาสตร์บางคนกังวลว่า วิธีการดังกล่าวจะขัดต่อกระบวนการทางธรรมชาติ แต่เมื่อโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ เธอจึงไม่เห็นทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ และว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องยื่นมือเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลงแนวปะการังให้สามารถอยู่รอดได้ในอนาคต
เมื่ออุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้น ปะการังจะปล่อยสาหร่ายที่ให้สารอาหารและให้สีแก่พวกมันออกมา ซึ่งจะทำให้ปะการังเปลี่ยนเป็นสีขาว หรือที่เรียกว่ากระบวนการปะการังฟอกขาวนั่นเอง และเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น ปะการังก็จะป่วยและตายลงอย่างรวดเร็ว
แต่เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่นักวิทยาศาสตร์ได้เฝ้าสังเกตปะการังที่รอดตายจากการฟอกขาว ถึงแม้ว่าปะการังอื่นๆ ที่อยู่ในแนวเดียวกันจะตายไปก็ตาม ในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังมุ่งศึกษาไปที่ปะการังรอดชีวิตที่มีสุขภาพดีเหล่านั้น และหวังว่าจะเข้าไปช่วยเพิ่มความทนทานต่อความร้อนให้ปะการังได้ อีกทั้งยังคัดเลือกปะการังเหล่านี้ให้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เพื่อสร้างปะการังขึ้นมาใหม่
การศึกษาครั้งล่าสุดจากสถาบันสมุทรศาสตร์วิทยาเเละชั้นบรรยากาศโลกเเห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA - National Oceanic and Atmospheric Administration) และองค์กรวิจัยอื่นๆ ได้ศึกษาปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างใกล้ชิด และพบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุดต่อแนวปะการังของโลกในปัจจุบัน
นักวิทยาศาสตร์พบว่าระหว่างปี 2009 ถึงปี 2018 โลกสูญเสียปะการังไปแล้วประมาณ 14%
ครอว์ฟอร์ด ดรูรี (Crawford Drury) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่ห้องทดลอง คอรัล รีซิลเลียนซ์ (Coral Resilience Lab) ของฮาวาย กล่าวว่า ปะการังทั่วโลกกำลังถูกคุกคามจากสิ่งรบกวนต่างๆ แต่อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นผลกระทบที่รุนแรงที่สุด
แมดเดอลีน แวน ออพเพน (Madeleine van Oppen) นักวิทยาศาสตร์ด้านการวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลีย (Australian Institute of Marine Science) บอกกับสำนักข่าวเอพีว่า มีข้อกังวลว่าการทดลองนี้อาจทำให้สูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมหรือไม่ และมีนักวิจารณ์หลายคนที่กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์กำลังเล่นบทเป็นพระเจ้าด้วยการเปลี่ยนแปลงกับแนวปะการัง
เธอกล่าวต่อไปว่า มนุษย์ทำลายแนวปะการังมาเป็นเวลานานแล้ว และทุกสิ่งที่พยายามทำอยู่คือการซ่อมแซมความเสียหายของแนวปะการัง ดังนั้น แทนที่จะไปแก้ไขยีนหรือสร้างในสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติ นักวิจัยเพิ่งจะเริ่มศึกษาสิ่งที่อาจเกิดขึ้นแล้วในมหาสมุทรโลก และด้วยวิธีนี้ ทีมวิจัยจะสามารถมุ่งศึกษาในส่วนเล็กๆ เพื่อช่วยรักษาและปรับปรุงในสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น
- ที่มา: เอพี