Your browser doesn’t support HTML5
ผลการศึกษาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2006 ทางออนไลน์ในวารสาร Science ชี้ว่าการเพิ่มขึ้นแบบทันทีทันใดของระดับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อ 55 ล้านปีที่แล้ว และเกิดขึ้นนานถึงประมาณ 170,000 ปี
ระดับอุณหภูมิทั่วโลกในตอนนั้นเพิ่มขึ้นเกือบราว 5 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงเเก่ระบบนิเวศน์ของโลก รวมทั้งทำให้เกิดสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์จำนวนมหาศาล
และในรายงานของผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่ยาว 52 หน้า ที่ตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ ในวารสารวิทยาศาสตร์ Atmospheric Chemistry and Physics นักวิทยาศาสตร์ 19 คนในทีมงานวิจัยชี้ว่า คนเรากำลังปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปสู่ชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็วกว่าที่เกิดขึ้นเมื่อ 55 ล้านปีที่แล้ว
และชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยเพียงเเค่ 2 องศาเซลเซียสเท่านั้น ก็จะมีผลร้ายแรงมหาศาลต่อสภาพภูมิอากาศโลก
ทีมนักวิทยาศาสตร์เตือนว่าอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น จะทำให้แผ่นน้ำเเข็งถล่ม เกิดพายุขนาดใหญ่ที่มีความรุนแรงและคลื่นทะเลยักษ์
คุณ James Hansen อดีตนักวิทยาศาสตร์แห่งองค์การสำรวจอวกาศแห่งสหรัฐฯ หรือนาซ่า เป็นหัวหน้าการศึกษานี้ เขากล่าวว่าเราอาจจะมาถึงจุดที่สายเกินแก้ และคนรุ่นอนาคตต่อๆ ไปจะได้รับผลกระทบรุนแรงต่างๆ จากภาวะโลกร้อนนี้
ในตอนที่คุณ Hansen ออกคำเตือนครั้งเเรกเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ผู้สื่อข่าวบางคนและบรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างวิจารณ์ว่าเป็นคำเตือนที่ขาดหลักฐานเพียงพอ แต่ตั้งเเต่นั้นมามีนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์หลายคนที่เเสดงความกังวลคล้ายคลึงกัน
ในการศึกษา ทีมนักวิทยาศาสตร์ใช้ข้อมูลหลักฐานที่ชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลกในยุคโบราณ รวมเข้ากับผลการศึกษาสมัยใหม่ และผลการจำลองสถานการณ์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์
ทีมงานนักวิทยาศาสตร์ได้สรุปว่า การละลายของแผ่นน้ำเเข็งในกรีนเเลนด์ และในแอนตาร์กติกา นอกจากจะเป็นเหตุให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเเล้ว ยังจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอื่นๆ อีกหลายอย่าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏการณ์ที่ทีมนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า stratification ที่ทำให้เกิดมีหย่อมน้ำเย็นขึ้นเป็นจุดๆ บนผิวหน้าของมหาสมุทร มีสาเหตุจากการละลายของเเผ่นน้ำเเข็ง โดยน้ำทะเลอุ่นที่อยู่ข้างใต้แผ่นน้ำแข็งจะยังทำให้แผ่นน้ำเเข็งละลายต่อไปจากด้านล่าง ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
ทีมนักวิทยาศาสตร์เริ่มพบหลักฐานที่ชี้ว่า ได้เกิดภาวะแบ่งแยกตัวของน้ำอุ่นและน้ำเย็นขึ้นแล้วในทางชายฝั่งตอนใต้ของกรีนแลนด์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะนำไปสู่ความเเตกต่างมากขึ้นทางอุณหภูมิระหว่างขั้วโลกเหนือเเละใต้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพายุไซโคลนรุนแรง ตลอดจนพายุรุนแรงอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดคลื่นทะเลยักษ์
ผลการศึกษาเหล่านี้ได้รับข้อมูลสนับสนุนจากการซึกษาชิ้นอื่นๆ รวมทั้งการศึกษาที่จัดทำโดยสำนักงานจัดการด้านทะเลวิทยาและบรรยากาศโลกแห่งสหรัฐฯ
ในขณะที่หลายคนยกย่องผลการศึกษานี้ว่าเป็นผลงานยอดเยี่ยม ยังมีอีกหลายคนที่ชี้ว่า ยังไม่รู้แน่ชัดว่าผลการศึกษานี้เป็นการให้ภาพที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม คุณ Richard Alley ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็ง (glaciologist) แห่งมหาวิทยาลัย Penn State ในฐานะหนึ่งในผู้เขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษานี้ชี้ว่า ผลการศึกษานี้ช่วยเป็นคำเตือนแก่คนเราว่า เป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกครั้งใหญ่และรวดเร็ว เพียงแต่เราไม่รู้ว่าจะรุนแรงแค่ไหน?
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)