Your browser doesn’t support HTML5
ตั้งเเต่ช่วงต้นคริสตศักราช 1980 เป็นต้นมา เครื่องพิมพ์แบบสามมิติได้วิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยเป็นเครื่องมือทันสมัยในห้องทดลอง มาเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาไม่แพงและผู้บริโภคสามารถซื้อหาได้ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานประดิษฐ์ของตนเองที่ได้รับการออกแบบซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม
มีนักอนาคตนิยมบางคนมองว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่สาม แต่บรรดานักพิทักษ์สิ่งแวดล้อมต่างชี้ว่า สิ่งสุดท้ายที่โลกต้องการคือสิ่งของที่ผลิตจากพลาสติกที่ไม่มีวันสูญสลายไปจากโลก และต้องนำไปทิ้งในหลุมฝังกลบขยะหรือทิ้งลงในทะเลและมหาสมุทร
พลาสติกเป็นปัญหาหลักทางสิ่งเเวดล้อม เนื่องจากส่วนผสมหลักมาจากปิโตรเลียมและไม่สามารถย่อยสลายไปได้ตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม มีพลาสติกทางเลือกชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อมอย่างพลาสติก polylactic acid หรือ PLA ที่มีส่วนผสมจากน้ำตาลจากข้าวโพดและต้นอ้อย แต่มีราคาแพงกว่า
มาถึงตอนนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์ Centre for Surface Chemistry and Catalysis ที่มหาวิทยาลัย Leuven เปิดเผยว่า ได้ค้นพบวิธีผลิตพลาสติกแบบ PLA ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นและถูกกว่าเดิม
คุณ Michiel Dusselier นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Leuven กล่าวว่า แทนที่จะใช้วิธีการผลิตแบบสองขั้นตอนอย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทีมนักวิจัยใช้วิธีผลิตแบบขั้นตอนเดียวและใช้ระดับความร้อนในการผลิตต่ำกว่าวิธีเดิมถึง 100 องศาเซลเซียส ทำให้ผลิตได้ปริมาณมากขึ้นต่อระยะเวลาหนึ่งชั่วโมง จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะอาดกว่า
พลาสติกชนิด PLA เป็นหนึ่งในบรรดาพลาสติกไม่กี่ชนิดที่นอกจากจะเหมาะกับการใช้งานในเครื่องพิมพ์สามมิติเเล้ว ยังเหมาะแก่การผลิตเป็นวัสดุทางการแพทย์ด้วย อาทิ ด้ายเย็บแผล
ศาสตราจารย์ Bert Sels แห่งมหาวิทยาลัย Leuven กล่าวว่า ตนคิดว่าผู้ใช้จะได้ประโยชน์จากการมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและราคาถูกกว่าให้เลือกเพิ่มขึ้น และตนคิดว่าผลงานของทีมนักวิจัยครั้งนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาพลาสติกชนิด PLA ให้กลายเป็นธุรกิจผลิตภัณฑ์พลาสติกไบโอ
แม้ว่าพลาสติก PLA จะไม่เหมาะกับการใช้งานทุกประเภท ตอนนี้มีบริษัทปิโตรเคมีเเห่งหนึ่งได้เริ่มพัฒนากระบวนการผลิตแบบใหม่แล้วเพื่อการผลิตในระดับโรงงาน
ช่วยสร้างความหวังว่า ในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากสารเคมีที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ออกมาให้ผู้บริโภคได้ใช้กันเพิ่มมากขึ้น
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)